
กองเรือทุ่นระเบิดต้นแบบทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน
กองเรือทุ่นระเบิดกองทัพเรือแนวคิดต้นแบบทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน : ตะลุยกองทัพ โดยจิตตภรณ์ เสนวงศ์
กองเรือทุ่นระเบิด กองทัพเรือ ถือเป็นหน่วยสำคัญหน่วยหนึ่งของกองบัญชาการกองทัพเรือ มีหน้าที่จัดและเตรียมกำลังสำหรับปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด เพราะเป็นอาวุธทางเรือที่มีความสำคัญยิ่งในทางยุทธวิธีและทางยุทธศาสตร์ สามารถใช้เรือดำน้ำเป็นพาหนะเข้าปฏิบัติการวางทุ่นระเบิดทำลาย และปิดเส้นทางเดินเรือของฝ่ายตรงข้าม ดังที่ประเทศไทยเคยประสบมาแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
พล.ร.ต.เชษฐา ใจเปี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กล่าวถึงนโยบายและกรอบการทำงานของกองเรือทุ่นระเบิด ในปี 2559 ว่า กำลังพลเป็นปัจจัยหลักในการปฏิบัติงานเพื่อให้ตอบสนองการทำงานของกองเรือทุ่นระเบิด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การที่กองทัพเรือยังไม่มีเรือดำน้ำ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมี จึงมีความจำเป็นต้องหาวิธีในการป้องกันและรับมือ ดังที่ประเทศไทยเคยประสบปัญหาเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว โดยกองเรือทุ่นระเบิดได้ยึดแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในการวิจัยและพัฒนา "ต้นแบบทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน" ขึ้นใช้เอง ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณ และสั่งสมองค์ความรู้ในการจัดสร้างทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย
“กองเรือทุ่นระเบิด กองทัพเรือ ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน เมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรุปผลการวิจัยและทดลองเพื่อให้ได้มาตรฐาน เตรียมผลิตมาสำรองในคลัง และจะนำมาใช้ในสนามฝึกต่างๆ เพื่อให้กำลังพลรุ่นใหม่ๆ สามารถนำทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหนไปใช้จนเห็นผล นอกจากนี้กองเรือทุ่นระเบิดกำลังต่อยอดทุ่นระเบิดอิทธิพลประเภท เสียง ความดัน ถ้าเราสร้างสิ่งพวกนี้ได้เองในอนาคตเราจะมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น” พล.ร.ต.เชษฐา กล่าวและว่า
สำหรับแผนงานการต่อต้านทุ่นระเบิดตามช่องทางเข้า-ออก หรือพื้นที่เป้าหมายนั้น ทางกองเรือทุ่นระเบิด มีการวางแผนร่วมกับกองทัพเรือภาค 1-3 เนื่องจากมีฐานทัพเรือที่สำคัญ เพื่อกำหนดช่องทางเข้า-ออกถ้าหากเกิดภัยจากสงครามทุ่นระเบิดในยามสงคราม เราจะมีเส้นทางปลอดภัยให้แก่เรือต่างๆ เช่น เรือรบ เรือสินค้า ดังนั้น ทุกๆ ปี กองเรือทุ่นระเบิด จะออกสำรวจเส้นทางทั้งด้านฝั่งตะวันออก อ่าวไทย อันดามัน หมุนเวียนกันไปเพื่อจะได้ทราบถึงลักษณะวัตถุใต้น้ำ หากเกิดสงครามขึ้นและมีการใช้ทุ่นระเบิด เราจะได้ทราบทันทีว่ามีวัตถุแปลกปลอมอยู่ตรงไหน เช่น เรารู้ว่าบริเวณนี้มีซากเรือจม หากมีสงครามก็จะมีการทิ้งทุ่นระเบิด เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาบริเวณตรงนี้ จะทำให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น
"ที่สำคัญ มีความพร้อมในการปกป้องผลประโยชน์และรักษาอธิปไตยของประเทศเต็มที่ แม้ว่ายังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุงแก้ไขในเรื่องยุทโธปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน หากมีโอกาสจะเสนอขออนุมัติให้มีการจัดหา หรือต่อเรือใหม่เพื่อใช้ในการทำลายทุ่นระเบิด เช่น เรือลากทำลายทุ่นระเบิดที่มีประจำการ 4 ลำ แต่อายุการใช้งานมาก เรือกวาดทุ่นระเบิด ขณะนี้เราไม่มีอยู่ในประจำการ โดยเฉพาะ “เรือสลับสูง” การต่อต้านทุ่นระเบิด เรามีแนวคิดว่าถ้าได้เรือต่อต้านนี้มา จะสามารถปฏิบัติงานได้หลากหลาย อาจเป็นเรือวางทุ่นระเบิดได้ด้วย เรือฝึก และจะทำให้กองเรือทุ่นระเบิดมีความสามารถสูงสุด” พล.ร.ต.เชษฐา