คอลัมนิสต์

ยุ้งฉางชาวนา

ยุ้งฉางชาวนา

23 ธ.ค. 2558

ยุ้งฉางชาวนา : ‘ไปสู่ถนนดินลูกรัง’โดย เฉลิมศักดิ์ แหงมงาม

           ผมได้ยินมาว่านโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ไม่มีการจำนำข้าว เปลี่ยนเป็นการฝากข้าวไว้ในยุ้งฉางของชาวนาเป็นการทดแทน ใช้เทคนิคช่วยเหลือชาวนาทางอ้อม

           ความจริงนโยบายนี้ น่าจะเคยมีมาแล้วในอดีต เรียกว่า ยุ้งฉางประจำหมู่บ้าน ถ้าจำไม่ผิด หน่วยงานพัฒนาชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง เพื่อสอนให้ชาวนารู้จักการออม เอาข้าวมาจำนำกับยุ้งฉางที่รัฐบาลได้สร้างขึ้นไว้

           ปัจจุบันซากยุ้งฉางยังคงมีอยู่ บางแห่งอยู่ข้างวัด บางแห่งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน บางแห่งอาจจะดัดแปลงไว้ทำประโยชน์ด้านอื่นและบางแห่งก็ปล่อยร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์การทำงานของรัฐบาลยุคก่อนๆ ไม่แน่ อาจจะกลับกลายเป็นโบราณสถานในอนาคต

           ยุคจำนำข้าวทำให้วิธีคิดของชาวนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย

           สมัยเป็นเด็ก ผมเป็นลูกหลานชาวนาแต่ดั้งเดิม ยังทันได้เห็นพี่ป้าน้าอา แบกคันไถออกกลางทุ่ง ยังเห็นการดำกล้า การลงแขกเกี่ยวข้าว โดยลักษณะไหว้วานซึ่งกันและกัน เอาแรงกัน ของคนไทยในชนบท ทว่าปัจจุบันน่าจะหายไปหมดแล้ว เพราะผมนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่บ้านต่างจังหวัด หลังบ้านเป็นทุ่งนากว้าง ผมเห็นรถคันขนาดเท่าบ้านหลังย่อมๆ กำลังเกี่ยวข้าวแทนคน เกี่ยวข้าวแบบนี้ น่าจะสำเร็จออกมาเป็นข้าวเปลือกเลย แต่ต้องเสียค่าจ้างให้แก่รถเกี่ยวข้าว

           ผมจำได้ว่า พ่อแก่ผมจะมียุ้งฉางใส่ข้าวไว้กลางบ้าน มันอยู่ระหว่างเรือนทรงไทยหลังใหญ่ ขนานกับถนนจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ด้านหน้าเกือบติดแม่น้ำปิง ส่วนเรือนด้านใต้ เป็นเรือนเก็บไม้หันหน้ามาทางทิศเหนือ มีนอกชานแล่นถึงกันระหว่างเรือนไทยกับเรือนเก็บไม้ด้านใต้ หลังเรือนเก็บไม้ มีคอกควายปลูกอยู่ติดบ้าน ฝาบ้านจะมีช่องลมลอดได้ สำหรับให้พ่อแก่มองเห็นควายในคอก พ่อแก่จะมีปืนลูกซอง ซุกไว้ใต้ที่นอนข้างกาย เพราะสมัยก่อนโจรชุกชุมนิยมมาลักควายในคืนที่ฝนตกหนัก

           ระหว่างเรือนสองเรือน ถัดนอกชานออกไปทิศตะวันออก มียุ้งข้าวใต้ถุนสูง ทำด้วยไม้สักอย่างดี ยุ้งข้าวสามารถจุข้าวเปลือกนับหลายร้อยถัง พอถึงฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยว ฟัดข้าว นวดข้าว ตากข้าวกับแดดเปรี้ยงจนได้ที่ ก็จะเอาข้าวใส่เกวียนมาเก็บไว้ในยุ้งข้าว ผมเห็นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ข้าวเปลือกหากกินเหลือ ก็เอาไว้ขาย ใช้ชีวิตแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีผิด

           แต่ยุคที่ผมดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมื่อปีผ่านมา ยุ้งข้าวเกือบจะเป็นยุ้งร้างไปแล้ว เพราะนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลสมัยผ่านมา ชาวนาต้องเอาข้าวไปเก็บไว้ที่โรงสี ชาวนาเห็นว่าข้าวราคาดี จึงขายเกือบหมดเกลี้ยง ให้เถ้าแก่โรงสีมาเก็บในผืนนากันไปเลย

           ชาวบ้านบางคนละโมบโลภมาก เช่าที่ดินชาวนาเพื่อนบ้านบางคนที่ท้อแท้กับการทำนาปลูกข้าว เพื่อหวังทำอุตสาหกรรมการปลูกข้าวนับหลายสิบไร่เป็นอาชีพหลัก คล้ายๆ คนทางภาคอื่นที่ลงมือปลูกสวนยางหวังขายให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ เพราะราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

           ยุ้งฉางปัจจุบัน เกือบจะร้างไร้เมล็ดข้าว ผมไม่รู้ว่านโยบายท่านนายกรัฐมนตรีจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ว่าชาวบ้านจะนำข้าวเข้ายุ้ง หรือจะเอาไปใส่ไว้ในโรงสี เก็บไว้ในฉางใหญ่เหมือนกับปีที่ผ่านมา

           ชาวนาคิดแบบพ่อค้าไปแล้ว ความคิดที่จะเก็บข้าวไว้กินทั้งปีนั้น เกือบจะไม่หลงเหลือ ชาวนาหวังเป็นพ่อค้ากันหมด ทุกวันนี้ เพราะเป็นพ่อค้าร่ำรวยเงินทองมากว่าชาวนาเป็นไหนๆ