คอลัมนิสต์

ตำนาน‘ทหารประชาธิปไตย’

ตำนาน‘ทหารประชาธิปไตย’

24 พ.ย. 2558

ตำนาน‘ทหารประชาธิปไตย’ : กระดานความคิด โดยบางนา บางปะกง

            บ่อยครั้งที่เราได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดทำนองว่า “ผมเป็นทหารประชาธิปไตยมาตลอดชีวิต ไม่อยากมายึดอำนาจ เพราะรู้ว่าถ้าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ต้องตัดสินใจทำ เพราะรัฐบาลที่แล้วแก้ไขปัญหาและความรุนแรงไม่ได้”
 
            แต่นักประชาธิปไตย คงไม่ยอมรับ เพราะพวกเขามองว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะดำเนินการอยู่นี้ เป็น “เผด็จการทหาร” และทหารที่ก่อการรัฐประหารไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย
 
            จริงๆ แล้ว “ทหารประชาธิปไตย” นั้น มีตัวตน ความคิด และอุดมการณ์ พวกเขาปรากฏตัวในสังคมไทย เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว
 
            เวลานั้น บ้านเมืองเราตกอยู่ในยุคสงครามเย็น เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ “คณะทหาร” จึงมีบทบาททางการเมืองอันสำคัญมาตั้งแต่ปี 2490
 
            สงครามภายในประเทศ ระหว่างกองทัพแห่งชาติ กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตั้งแต่ปี 2508-2516 ได้บ่มเพาะให้ “ความคิดประชาธิปไตย” เบ่งบานในกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.)

            เนื่องจากมีอดีตกรรมการกลาง พคท. 2 คนคือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร กับ ผิน บัวอ่อน เป็นผู้ให้ความรู้ทางการเมืองในเรื่อง “ประชาธิปไตย” โดยไม่เกี่ยวกับสังคมนิยม

            ทั้งประเสริฐกับผิน ต่างก็มีแนวทางการให้ความรู้แก่นายทหารกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมคือ จะเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ ต้องสร้างประชาธิปไตย
 
            หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายทหารระดับกลางได้รวมตัวกัน เรียกชื่อตัวกลุ่มตัวเองว่า “ทหารประชาธิปไตย” นำโดย พล.ต.ระวี วันเพ็ญ พล.ท.ประสิทธิ์ นวาวัตน์ พล.อ.มานะ เกษรสุข และ พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์

            กลุ่มทหารประชาธิปไตย เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวคือ การปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้อำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง โดยให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้อำนาจอธิปไตยของเขาได้อย่างแท้จริง

            ในสายตาของกลุ่มทหารประชาธิปไตยมองว่า การปกครองแบบเผด็จการเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คอมมิวนิสต์เติบโต ส่งผลกระทบให้คอมมิวนิสต์ขยายตัวได้ง่าย

            ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ ต้องแก้ไขด้วยวิถีทางทางการเมืองเท่านั้น และต้องใช้ประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้

            แนวคิดของทหารประชาธิปไตยดังกล่าว ได้รับการขานรับจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงกลายเป็นที่มาของคำสั่งที่ 66/2523 การเอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยนโยบายการเมือง

            เวลานั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า คำสั่งที่ 66/2523 เป็นนโยบายพิเศษให้ “พลพรรคคอมมิวนิสต์” วางอาวุธ และเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย

            ทั้งแก่นความคิดของคำสั่งดังกล่าวคือ การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นวิธีการเอาชนะคอมมิวนิสต์ ในเบื้องต้นทหารมีบทบาทค้ำจุนประชาธิปไตย แต่ประเทศที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อทหารต้องเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย

            กลุ่มทหารประชาธิปไตย ไม่ได้เชื่อในลัทธิเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะครอบงำด้วยนายทุนเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกัน พวกเขาไม่สนับการรัฐประหาร แต่เห็นด้วยกับการปฏิวัติประชาธิปไตย

            เวลาเดียวกัน พวกเขาอธิบายคำว่า “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ที่ไม่ใช่การรัฐประหารให้ผู้คนกระจ่างแจ้งในใจได้ ชุดความคิดคำสั่ง 66/2523 จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลเปรมในสมัยนั้น

            หลังรัฐประหาร 2549 พล.ท.ประสิทธิ์ นวาวัตน์  ได้เขียนสารจากทหารประชาธิปไตยว่า การสร้างระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนกับทหารจะต้องร่วมมือกันสร้างจึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าประเทศไทยหรือนานาประเทศก็เหมือนกันทั้งสิ้น

            นายทหารอาวุโสยังเชื่อว่า การรัฐประหารไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เมื่อทหารมีอำนาจแล้วดันปล่อยให้ไปสู่การเลือกตั้ง ก็มิอาจหลีกเลี่ยงมิคสัญญีกลียุคได้

            ดังนั้น การขยายอธิปไตยของปวงชน หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเปลี่ยนระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงเป็นทางออกทางเดียวของกองทัพแห่งชาติ

            ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ทหารประชาธิปไตยกลุ่มนี้ ก็ไม่เคยอธิบายความว่า รูปธรรมของการเปลี่ยนระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
 
            ลัทธิประชาธิปไตยของพวกเขา จึงเป็นความฝันอันลอยเลื่อนของนายทหารที่เติบโตมาในยุคสงครามเย็น