
สงครามชีวิตที่'ทับเบิก'
สงครามชีวิตที่'ทับเบิก' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา
ข่าวทางการจะจัดระเบียบ “รีสอร์ทลูกกวาด” บนภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เป็นข่าวใหญ่ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว เท่าที่ติดตามดูรายงานทางทีวี รู้สึกว่าสื่อไม่สนใจประเด็นที่มาของชุมชน “ม้ง” แห่งภูทับเบิกมากนัก
สื่อให้น้ำหนักกรมป่าไม้จะไปจัดการคนบุกรุกป่า ทั้งที่แผ่นดินภูทับเบิก บรรพบุรุษชาวม้งสร้างถิ่นฐานทำกินมานับร้อยปีแล้ว เพียงแต่ “สงคราม” ทำให้พวกเขาบ้านแตกแยกทางกันเดิน
หลายปีก่อน มีหนังเรื่อง “ม้ง สงครามวีรบุรุษ” สร้างโดยนักธุรกิจชาวม้งในสหรัฐ ในนามบริษัท ป้าเย้ง เรซอัพ โปรดักชั่น จำกัด สะท้อนภาพสงครามการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ระหว่างปี 2511-2525 ณ สมรภูมิรอยต่อ 3 จังหวัด (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย) ซึ่งผู้ใดสนใจลองไปหาหนังเรื่องนี้มาดู เผื่อว่าจะได้เข้าใจเรื่องราวของ “ม้ง” แห่งทับเบิก และชุมชนใกล้เคียงมากขึ้น
จากประวัติศาสตร์ชาวม้ง 3 จังหวัด พบว่า ปี 2465 มีชาวม้งได้โยกย้ายถิ่นฐานจาก จ.น่าน เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ในบริเวณเทือกเขารอยต่อเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย
ปี 2475 ชาวม้งตระกูล “แซ่ท่อ” จัดตั้งหมู่บ้านทับเปา หรือทับเบิก มีประชากร 800 คน 100 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็น “ม้งดำ” ขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็น “ม้งขาว”
จุดเปลี่ยนของวิถีชีวิตชาวม้งในไทยคือ การเข้ามาของ “ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน” ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เนื่องจากเผ่าพันธุ์ม้ง ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน ล้วนนับถือกันตามสายตระกูล “แซ่” ฉะนั้นความคิดทางการเมืองที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ จึงถูกถ่ายทอดจาก “ม้งในลาว” มาถึง “ม้งในไทย”
ระหว่างนั้น ชาวม้งผู้เชื่อในความคิดใหม่ได้มีการจัดตั้งลับๆ และส่งหนุ่มม้งจำนวนหนึ่งไปศึกษาวิชาการทหารในเวียดนาม และจีน
ปี 2509 ศูนย์การนำแนวลาวฮักชาติ ประสานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ให้ส่งผู้ปฏิบัติงานเข้าสู่ชุมชนม้ง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จึงได้มีผู้ปฏิบัติงานจากในเมือง 2 คน เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชน
ปี 2510 นักรบม้งที่จบจากโรงเรียนการเมืองการทหารในต่างประเทศ เข้ามาประจำการที่เขต 3 จังหวัด อันนำไปสู่วันเสียงปืนแตก หรือการต่อสู้ด้วยอาวุธทั่วทั้งเทือกภูร่องกล้า ป่าหวาย ทับเบิก ลมโล ขี้เถ้า เขาค้อ เขาย่า ฯลฯ เมื่อชาวม้งลุกขึ้นสู้ คณะกรรมการ พคท.เขต 3 จังหวัด หรือเขตภูหินร่องกล้า ได้มีมติให้จัดตั้ง “อำนาจรัฐ” ของประชาชนขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 เขต และ 1 เขตพิเศษ
อำนาจรัฐเขต 10 ได้แก่ บ้านน้ำขาว, บ้านน้ำเข็ก, บ้านห้วยทราย, บ้านข้อโป่ และบ้านร่องกล้า
อำนาจรัฐเขต 15 ได้แก่ บ้านเขาค้อ, บ้านเขาย่า, บ้านใหญ่, บ้านไผ่และ บ้านสะเดาะพงษ์
อำนาจรัฐเขต 20 ได้แก่ บ้านป่าหวาย บ้านขี้เถ้า และบ้านทับเบิก
อำนาจรัฐเขตพิเศษ บ้านใหม่ และบ้านภูเมี่ยง
เฉพาะบ้านทับเบิก ชาวม้งดำได้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม โดยม้งส่วนใหญ่เข้าร่วมการปฏิวัติกับ พคท. แต่อีกส่วนหนึ่งได้หนีลงจากภูเขาไปเข้ากับฝ่ายรัฐที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
สงครามยังดำเนินต่อไปอีกหลายสิบปี จนถึงปี 2525 ชาวม้ง 3 จังหวัดจึงยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยทางกองทัพภาคที่ 3 ได้ให้ชาวม้งกลับคืนบ้านเดิม และบางส่วนได้ย้ายมาอาศัยอยู่ใน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
ภูทับเบิกและหลายพื้นที่ กลายเป็นเขตสงเคราะห์ชาวเขา โดยม้งดำที่อพยพไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคอมมิวนิสต์บางส่วน ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่
ปี 2550 ม้งทับเบิกที่ตกค้างอยู่ที่ อ.นครไทย ได้เข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ขอกลับไปทำกินที่บ้านเก่า-ทับเบิก และจนถึงวันนี้ ม้งทับเบิกกลุ่มนั้นยังเรียกร้องขอที่ดินทำกินอยู่เหมือนเดิม
ขณะที่นายทุนต่างถิ่นเริ่มรุกเข้าไปครอบครอง “ทับเบิก” แต่คนม้งเจ้าถิ่นส่วนหนึ่งยังไร้ที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง นี่แหละสงครามชีวิตคนทับเบิก