
นายห้าง นักร้อง และนักทำแผ่น
นายห้าง นักร้อง และนักทำแผ่น : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา
ถ้าจำไม่ผิด ราวปี 2537 ผมได้ไปพบกับ “เฮียงู้” นายห้างเสียงสยามฯ ที่สำนักงานย่านสะพานเหล็กบน ปกติเฮียแกไม่เปิดบ้านพบปะกับนักข่าว แต่ครั้งนี้มี “ผู้มากบารมี” คนหนึ่งประสานให้ จึงได้ไปขอสัมภาษณ์แบบไม่ยอมให้ถ่ายรูป และบันทึกเสียง
ตอนนั้น นักร้องเก่ารายหนึ่งไปร้องสื่อว่า ผลงานเพลงที่ตนเองเป็นผู้ประพันธ์ ถูกค่ายเพลงครอบครองในลักษณะ “ซื้อขาด” โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ทางเฮียงู้ก็เอาหลักฐานมาให้ผมดู พร้อมกับบอกว่า นักร้อง-นักแต่งเพลงที่มาขายเพลง ก็ถามทุกคนว่า “ขายขาดมั้ย” พวกเขาก็เซ็นยินยอม และรับเงินก้อนไป
“เพลงก็เหมือนที่ดิน ผมซื้อไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาเพลงละ 500 บาท แต่วันนี้ ราคามันสูงขึ้นไปสภาพเศรษฐกิจสังคม อย่างที่ดินไร่ละหมื่น ก็ขึ้นไปเป็นไร่ละล้านในปัจจุบัน” ผมยังจำคำเปรียบเปรยของเฮียงู้ได้
“เฮียงู้” มีชื่อจริงว่า ปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เสียงสยามแผ่นเสียง-เทป จำกัด นั้นคร่ำหวอดอยู่ในวงการพ่อค้าเพลงมายาวนาน ตั้งแต่เริ่มทำแผ่นเสียงขายเอง หรือที่เรียกกันว่า “นายห้างแผ่นเสียง” เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว
ปี 2523-2524 “เฮียงู้” ได้ร่วมกับประจวบ จำปาทอง และเอื้อ อารีย์ ตั้งบริษัทเสกสรรเทป-แผ่นเสียงขึ้นมา พร้อมกับทำวงดนตรี ปั้นนักร้องคู่ขวัญชีวี “เสรี รุ่งสว่าง-พุ่มพวง ดวงจันทร์” โดยให้เดินสายร่วมกัน และเปิดเวที “ชุมทางคนเด่น” เป็นเวทีประกวดร้องเพลงเพื่อคัดนักร้องสมัครเล่นจากทั่วประเทศ
หลังจาก เอื้อ อารีย์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เฮียงู้ก็แยกออกมาตั้งบริษัทเสียงสยามฯ ทำธุรกิจเพลงร่วมกับ “นักทำแผ่น” หรือโฆษกนักจัดการวิทยุชื่อดังหลายคน รวมทั้ง “ถนอม จันทร์เกตุ” มือทำแผ่นเสียงระดับแถวหน้าคนหนึ่ง
ปี 2524 สังข์ทอง สีใส นักร้องหน้าผี พ้นโทษออกมาจากเรือนจำ หลังจากสังข์ทองโดนคดีพยายามฆ่าคนตายที่ชัยภูมิ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 12 ปี และสังข์ทองติดคุกจริง 4 ปี 7 เดือน
วงดนตรีสังข์ทอง เดินสายอีกครั้งโดยมอบให้ ถนอม จันทร์เกตุ โฆษกวิทยุเป็นผู้ลงทุนทำเพลง ซึ่งในเวลานั้น เป็นยุคสมัย “แผ่นเสียงราโรย เทปรุ่งเรือง” จึงมีการทำเพลงเป็นชุด โดยผู้ลงทุนจะคัดเพลงมาบรรจุให้เต็ม 10 เพลง แบ่งเป็นหน้าเอ จำนวน 5 เพลง และหน้าบี จำนวน 5 เพลง
ถ้าเป็นเพลงเกรดดี ตั้งใจเชียร์ให้ดังก็จะอยู่ในลำดับ 1-3 ของหน้าเอ ส่วนที่เหลือก็เป็นเพลงที่เสริมเข้ามาให้เต็มอัลบั้ม
เพลง “หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว” ที่สังข์ทองร้องบันทึกเสียงไว้ ไม่ใช่เพลงเชียร์เพลงดัง จึงถูกวางไว้เป็นเพลงสุดท้ายของหน้าบี
จริงๆ แล้ว เพลงดังของสังข์ทองยุคสุดท้าย มีอยู่เพลงเดียวคือ “รักข้ามกำแพง”
เพลงของ สังข์ทอง สีใส นัั้นแบ่งได้ 3 ช่วงคือ ช่วงแรก สมัยที่อยู่วงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุลมีเพลงดัง “อกอุ่น”, “นิ้งหน่อง” และ “หนาวลมห่มรัก”
ช่วงที่สอง สังข์ทองตั้งวงเอง ปี 2511 และได้เล่นหนังเรื่องโทน พร้อมกับร้องเพลง “โทน” และ “อย่าบอน”
เพลง “หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว” ที่เขาร้องและแต่งเองนั้น อยู่ในช่วงท้ายๆ ก่อนเขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2527
ถ้าไม่มีเหตุการณ์ตลกทะเลาะกัน และแฟนเพลงพันธุ์แท้ไปนำเอาแผ่นเสียงเพลงหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว ร้องโดย สังข์ทอง มาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ตัวเฮียงู้เองก็ไม่รู้หรอกว่า เพลงแว้นฟ้อฯ จะมีทำนองคล้ายเพลงหนุ่มฟ้อฯ
ตอนที่เฮียงู้กับถนอม จันทร์เกตุ ทำแผ่นเสียง-เทปเพลงสังข์ทอง สีใส ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน จนถึงปี 2544 กฎหมายทรัพย์สินฯ ว่าด้วยการจัดเก็บลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้ เฮียงู้ตัดสินใจซื้อหุ้นส่วนจากถนอม จันทร์เกตุ มาไว้แต่ผู้เดียว
ที่ตลกร้าย เฮียงู้สั่งทีมงานรวบรวมเพลงของสังข์ทอง มาทำเป็นซีดี และวีซีดี มือคัดเพลงของเฮีย ก็ยังคัดเพลงหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวทิ้ง เพราะมันไม่ดัง
หากตลกรุ่นใหญ่กับรุ่นเล็ก ไม่ส่งเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว คงไม่มีนักสะสมเพลงเก่าไปปลุก “สังข์ทอง” ให้ออกมาฟ้องสังคมว่า “ข้าพเจ้าคือผู้แต่งเพลง” ด้วยการโชว์แผ่นเสียง และปกเทป
นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า ตาอินกับตานา ทะเลาะกันลั่นทุ่ง นายห้างนั่งส่องพระอยู่เฉยๆ ก็ถูกหวย