
บทเรียนสอนน้อง(ประชาธิปไตยใหม่)
บทเรียนสอนน้อง(ประชาธิปไตยใหม่) : กระดานความคิด โดยบางนา บางปะกง
งานรำลึกรัฐประหาร 19 กันยา ของ “กลุ่มประชาธิปไตยใหม่” ผ่านไปด้วยความราบรื่น เมื่อ คสช.ผ่อนปรนให้ทำกิจกรรมได้
ผู้อยู่หลังม่านพยายามปั้น “กลุ่มประชาธิปไตยใหม่” เป็นธงนำของฝ่ายประชาธิปไตย และวาดหวังว่า “โมเดล 14 ตุลา” จะหวนกลับมาอีกครั้ง แต่ในข้อเท็จจริง ขบวนการดังกล่าวก็ยังหนีไม่พ้นเงาคนเสื้อแดง
พูดกันตรงๆ ขบวนการนักศึกษาสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่ใช่ขบวนการบริสุทธ์ ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ตรงกันข้ามปฏิเสธไม่ได้ว่า 14 ตุลา ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจระดับโลก
กุลลดา เกษบุญชู มีด จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับพลังนักศึกษาเมื่อ 40 ปีที่แล้วว่า ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวที่รับรู้ทฤษฎีตะวันตกและกระหายจะเปลี่ยนแปลงโลกตามตำรา ขบวนการนักศึกษาเองก็ไม่ได้เป็นอิสระ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบไร้ความหมาย มีเฉดสีที่มากมายในขบวนการ
ทั้งนักศึกษาที่อิงกับสถาบันกษัตริย์, นักศึกษาแนวเสรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ, กลุ่มจัดตั้งของทหารฝ่ายตรงข้ามถนอมประภาส และกลุ่มนักศึกษาเอียงซ้ายที่มีการจัดตั้งจาก พคท.
สิ่งหนึ่งที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ต้องเข้าใจคือ ชัยชนะของ 14 ตุลาคม หาได้เกิดเพราะความสามัคคีบริสุทธิ์ของนักศึกษาอย่างเดียว หากแต่เกิดจากกลุ่มอำนาจหนึ่ง สามารถนิยามว่า “เท่านี้คือชัยชนะ” ที่เพียงพอแล้ว
รูปธรรมคือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้น ฉวยโอกาสการลุกฮือของพลังนักศึกษาและประชาชน ยึดอำนาจเงียบ โดยร้องขอให้ จอมพลถนอม-จอมพลประภาส เดินทางออกนอกประเทศ
วิทยากร เชียงกูล ปัญญาชนคนเดือนตุลา ยอมรับว่า “ขบวนการคนหนุ่มสาวยุค 14 ตุลายังอ่อนประสบการณ์ พวกอำนาจชนชั้นทางปกครองมีเล่ห์เหลี่ยมสูง...”
อย่างไรก็ตาม “วิทยากร” มองว่า การเปลี่ยนแปลงจากขบวนการตุลา ทำให้ประเทศไทยหลังปี 2520 มีความต้องการประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากกว่าระบอบเผด็จการทหารแบบเก่า ขณะที่ระบอบเศรษฐกิจในรอบ 41 ปี ตั้งแต่หลังตุลา 2516 จนถึงปัจจุบันได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างมาก แต่เป็นการพึ่งพาการลงทุนการค้ากับต่างประเทศเพิ่มขึ้น กลายเป็นเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมผูกขาดที่อยู่ได้ด้วยการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานของเกษตรกร คนงาน และผู้ประกอบการรายย่อยทำให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงทางทรัพย์สินรายได้ การศึกษามาก ทำให้อำนาจรัฐอยู่ในรัฐบาลที่ส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง มีการซื้อเสียง ขายเสียง ใช้อำนาจระบบอุปถัมภ์
นับแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของไทย ที่ชนชั้นนำส่วนน้อยคงมีอำนาจเหนือประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่ทหารนำเข้ามาแทรกแซง ย่อมไม่ได้แตกต่างกัน เป็นเพียงการเล่นเกมทางการเมืองของชนชั้นนำต่างกลุ่มเท่านั้น
จึงอยากฝากบทเรียนแก่น้องๆ ในนาม “กลุ่มประชาธิปไตยใหม่” จะก้าวเดินไปข้างหน้าต้องระมัดระวัง “หลุมพราง” อย่าคิดฝันในเชิงอุดมคติมากไป จนละเลยความจริงที่ดำรงอยู่
ปัจจุบัน ขบวนการภาคประชาชนแบบขบวนการ 14 ตุลา หรือขบวนการสังคมนิยม ไม่มีแล้ว หากแต่ “ขบวนการประชาชนสีเสื้อ” ที่มีอุดมการณ์ความเชื่อจากชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ
แม้น้องๆ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จะพยายามสร้างขบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับ “ทักษิณ” แต่คนที่มาร่วมทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังจำนวนหนึ่ง ก็ล้วนแต่เคยเคลื่อนไหวเพื่อทักษิณมาแล้วทั้งสิ้น
คำถามจากรุ่นพี่ที่มองปรากฏการณ์ “ขบวนการนักศึกษา 2558” ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง