คอลัมนิสต์

ฝายกระสอบทราย

ฝายกระสอบทราย

12 ส.ค. 2558

ฝายกระสอบทราย : ไปสู่ถนนดินลูกรังโดย เฉลิมศักดิ์ แหงมงาม

           เพิ่งไปตรวจสถานการณ์ภัยแล้งในเขตพื้นที่ อ.สามเงา กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดตากเมื่อเสาร์ที่ผ่านมา โดยป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัดและทีมงาน ร่วมคณะมาในครั้งนี้ด้วย เพราะเป็นงานในหน้าที่โดยตรง ส่วนผมนายอำเภอท้องที่ ต้องให้การต้อนรับ แม้จะรู้ว่าเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ต้องอดทน เมื่อภัยแล้งกระหน่ำเมืองไทยอย่างหนักแทบจะทุกภูมิภาค

           ต้องขอโทษผู้อ่านด้วย ผมมักจะยกตัวอย่างในพื้นที่ เพราะแผ่นดินไทยแห่งหนไหนเหมือนกันทั้งนั้น สภาวะคล้ายกัน หรือเกือบจะเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลเดียวกัน
          
           ปทุมธานีแผ่นดินยุบ น้ำใต้ดินหดหาย อ.สามเงาก็มี แต่มันไม่มาก ยุบตามป่าเขา หรือไม่ก็หัวไร่ปลายนา ไม่สร้างผลกระทบต่อมวลชนแต่อย่างใด จึงไม่เป็นข่าวให้รัฐบาล ข้าราชการเกี่ยวข้อง ต้องเคร่งเครียด

           ผมเลือกพื้นที่บางแห่งที่อยากจะให้รองผู้ว่าราชการได้เห็นว่ามีการแก้ไขปัญหาในอำเภอรับผิดชอบพอสมควร เป็นการแก้ไขปัญหาง่ายๆ ใช้งบประมาณเพียงไม่กี่หมื่นบาท แต่ให้ผลอย่างคุ้มค่า

           กำนันตำบลยกกระบัตร ชื่อ สำราญ ปันยศ เป็นผู้นำพาไป จุดแรกแกพาออกนอกเส้นทาง ไปดูแก้มลิงในพื้นที่เวิ้งว้าง ชื่อว่า หนองตะเข้ มีพื้นที่รับน้ำนับพันไร่ เห็นแล้วต้องใจหาย

           เพราะอ่างกระทะเคยเห็นเวิ้งน้ำขนาดทะเลสาบลูกย่อมๆ บัดนี้ผืนน้ำแห้งขอด เห็นแต่ป่าไมยราบยักษ์กำลังจะขึ้น เห็นท้องน้ำคงเหลืออยู่บ้าง เป็นสระน้ำเล็กๆ ไกลลิบๆ อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบันเคยมาเยี่ยมเยียน

           จากนั้นกำนันก็พาไปดูฝายกระสอบทรายที่ผมจัดหางบประมาณไปซ่อมแซมเพียงสองหมื่นห้าพันบาท กั้นแม่น้ำวังที่ไหลผ่านพื้นที่ ต.ลยกกระบัตร เป็นการเสริมฝายเคยถูกน้ำพัดพังปีผ่านมา แต่ยังเหลือซากเดิมริมตลิ่งสองฟากฝั่ง

           ฝายกระสอบทราย คือฝายชั่วคราวชาวบ้านใช้กั้นน้ำอยู่เป็นระยะ ช่วงแม่น้ำวังไหลผ่าน เป็นฝายตอกหลักรอด้วยไม้ค่าวขนาดลำแข้งเป็นพนัง แล้ววางกระสอบทรายด้านหน้าประมาณสามสี่แถว สูงไม่เกินสองสามเมตร ผ่านตำบลใด กำนันผู้ใหญ่บ้าน นิยมของบประมาณภัยแล้งแต่ละปีมาสร้าง เพื่อต่อสู้กับภัยแล้ง ทำให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและทำประปาหมู่บ้านได้อย่างเหลือเฟือ แม้ภัยแล้งจะโหมเข้ามาเพียงใดก็ตาม

           มันคือวิธีกั้นฝายแบบโบราณที่ปู่ย่าตายายเคยสอนกันมาอย่างยาวนาน เป็นฝายเจือจานความมีน้ำใจ เพราะสร้างแบบไม่ปิดกั้นจนเกินสมควร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าฝายน้ำล้น

           พอน้ำไหลบ่ามากๆ มันก็พังโดยธรรมชาติ ปล่อยให้แม่น้ำไหลได้อย่างสะดวก แต่ต้องสร้างทุกปี

           ปีนี้ภัยแล้งโหดสุดๆ แม่วังแห้งขอดทั้งแม่น้ำ เห็นผืนทรายเวิ้งว้างเป็นแนวยาว กลับกลายเหมือนถนนกว้างอีกเส้นหนึ่งก็ไม่ปาน

           ชาวบ้านบ่นออด เหตุเป็นเช่นนี้ เพราะอำเภอต้นน้ำสร้างเขื่อนยางปิดกั้น อำเภอท้ายน้ำจึงต้องรับบาปเคราะห์ ถ้าต้นน้ำไม่เปิดเขื่อน ก็ไม่มีสายน้ำหลงเหลือ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดเป็นปีแรก

           แต่ช่วงที่ไปตรวจ น้ำวังเริ่มไหลบ่าลงมาบ้าง เพราะได้รับความเมตตาจากอำเภอแม่พริก เจ้าของเขื่อนปล่อยน้ำไหลลงมา

           ถ้าแล้งจัดๆ หากไม่มีการเจือจานการใช้น้ำในแม่น้ำ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดสงครามการแย่งน้ำหรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าคิด