คอลัมนิสต์

บุญพรรษากับหน้าฝน

บุญพรรษากับหน้าฝน

03 ส.ค. 2558

บุญพรรษากับหน้าฝน : โดยวิธีของเราเอง โดยไพฑูรย์ ธัญญา

           เทศกาลบุญพรรษาประจำปีเริ่มขึ้นแล้ว บุญพรรษาปีนี้มาพร้อมฝนฟ้าที่ตกลงมาทั่วฟ้าแผ่นดินไทย มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นติดต่อยาวนานกำลังจะเลือนหายไป พร้อมกับที่ฤดูฝนเริ่มเข้ามาแทนที่อย่างจริงจังเสียที

           สองสามวันมานี้ออกไปที่ไหนก็เห็นชาวบ้านพากันไปทำบุญ เริ่มมาตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา มาจนถึงวันเข้าพรรษา ประจวบกันเป็นวันหยุดยาวถึงสี่วัน เทศกาลเข้าพรรษาจึงออกจะคึกคักเป็นพิเศษ บนถนนสายหลักเนืองแน่นไปด้วยยวดยานพาหนะ แม้จะไม่คับคั่งและติดหนึบเหมือนเทศกาลวันสงกรานต์ แต่ผู้คนก็พากันแห่กลับมาทำบุญที่บ้านกันหนาตา

           หากมองกันในแง่ดีบ้าง ก็ถือว่าบุญพรรษาปีนี้ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทีเดียว เพราะผู้คนต่างพากันมีความสุขที่ได้ทำบุญในเทศกาลสำคัญ ขณะเดียวกันฝนฟ้าก็ตกลงมาให้ชุ่มฉ่ำ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีอีกวาระหนึ่งของเกษตรกรชาวไทย ความสุขของชาวบ้านไม่มีอะไรมากไปกว่าได้ประกอบสัมมาอาชีพที่ตัวเองรัก และได้ทำบุญสุนทานตามความเชื่อและขนบประเพณี นี่คือวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและงดงามตามแบบไทยๆ

           ฤดูกาลกับเทศกาลเป็นสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงกันแนบแน่น ทั้งหมดมาจากรากฐานของสังคมเกษตรกรตั้งแต่อดีต การทำมาหากินเป็นเรื่องใหญ่ เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทั้งมวล เพราะวัฒนธรรมคือวิถีของชีวิต

           ตามพุทธประวัติที่เราได้ศึกษา กล่าวว่า เทศกาลเข้าพรรษาเกิดขึ้นสืบเนื่องจากพระพุทธเจ้าเห็นว่า หน้าฝนเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านพากันทำนา ฝนฟ้าที่ตกลงมาตามฤดูกาลทำให้ข้าวกล้าในนางดงาม ถ้าพระภิกษุเดินทางไปมาก็อาจเยียบย่ำข้าวกล้าของชาวนาให้เสียหาย พระองค์จึงให้พระภิกษุหยุดเดินทางไปไหนมาไหนแบบถาวร ให้อยู่ประจำตามวัดวาอารามนานสามเดือน จนกว่าจะครบกำหนดนั่นแหละ จึงสามารถสัญจรไปไหนมาไหนได้ตามปกติ นี่คือที่มาของวันเข้าพรรษาที่รู้กัน

           ถ้าพุทธประวัติไม่ได้สอนและตีความมาแบบผิดๆ มองในแง่นี้จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงมีญาณทัศนะที่ลึกซึ้งกว้างไกล ในขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพต่อชาวนาเป็นอย่างมาก พูดให้ตรงประเด็นก็คือ พระพุทธเจ้าเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ให้พุทธศาสนิกชนดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับชาวนา ที่เป็นชนชั้นระดับรากหญ้า ถึงกับออกบทบัญญัติให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวนา สมัยนั้นไม่มีถนนหนทางสะดวกสบาย การเดินทางไปไหนมาไหนของพระต้องเดินฝ่าทุ่งนาและพื้นที่ทำการกสิกรรมของชาวบ้าน จะมีใครอีกไหมที่รักและให้ความเคารพชาวนาเหมือนพระพุทธองค์ พระพุทธจริยวัตรในข้อนี้ กลุ่มคนที่เป็นคณะรัฐบาลน่าจะเอาไปพิจารณาให้มาก เพื่อจะไม่ได้ทำร้ายชาวนาชาวไร่ให้เจ็บช้ำน้ำใจมากกว่านี้

           หากพิจารณากันตามความเป็นจริง เรื่องเล่าและตำนานวันเข้าพรรษาก็มีความเป็นไปได้อย่างมาก เราต้องไม่ลืมว่า ศาสนาพุทธเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศในเขตมรสุม และผู้คนทำการเกษตรเป็นหลัก อินเดียอยู่ในเขตเอเชียใต้ สังคมอินเดียตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ในการประกาศศาสนาพุทธ เป็นดินแดนของการเกษตร พูดง่ายๆ ก็คือ พระพุทธเจ้าแม้จะมาจากชนชั้นกษัตริย์ แต่ก็เลือกข้างที่จะอยู่กับชาวนามากกว่า ศาสนาพุทธของพระองค์จึงเป็นศาสนาของชาวนา สำหรับชาวนาและเพื่อชาวนาโดยแท้

           หากเราเรียนรู้ วิธีการมองโลกอย่างมุมมองแบบสัมพัทธ์อย่างพระพุทธเจ้า เราก็จะเข้าใจถึงความสัมพันธ์และเกื้อกูลของสรรพสิ่ง ระหว่างธรรมชาติ ชีวิต กับวิถีความเป็นไปของสังคม ว่าต่างมีความยึดโยงเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก หากเราละเลยส่วนหนึ่งส่วนใดไป โลกและชีวิตของเราก็จะขาดความสมดุลในทันที
           
           พรรษากับหน้าฝนที่มาพร้อมกันในปีนี้ คงทำให้คนไทยระดับรากหญ้ามีความสุขไม่น้อยไปกว่าปีก่อนๆ