
ดราม่ากันเถอะ!:โดยวิธีของเราเอง
ดราม่ากันเถอะ!:โดยวิธีของเราเอง โดยไพฑูรย์ ธัญญา
ทุกวันนี้คำว่า “ดราม่า” เป็นคำที่มีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น คำว่า “ดราม่า” ที่เราใช้กันอยู่ เป็นคำทับศัพท์ที่มาจากคำว่า "Drama” ในภาษาอังกฤษ ในตอนแรกๆ เราใช้คำนี้ในความหมายของการแสดง เช่น การแสดงละคร เราก็เรียกดราม่า คำว่าดราม่าในความหมายนี้ ยังมีความหมายย่อยไปอีกว่า การแสดงที่มีลักษณะฟูมฟาย พิรี้พิไร หรือแสดงออกทางอารมณ์จนล้น จัดจ้านเกินพอดี
แต่คำว่า “ดราม่า” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตอนนี้ โดยเฉพาะในโลกสังคมออนไลน์ เป็นคำสแลงที่ีหมายถึง การนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้ง ที่เกิดจากความคิดที่แตกต่าง จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย น่ารำคาญแก่คนอื่น (แต่คนชอบติดตามอ่านหรือเสพย์) ความหมายคำว่า “ดราม่า” ในแง่นี้ ยังกินความไปถึงพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่เกิดจากการขัดแย้งนั้นจนเกินพอดี สังคมออนไลน์ทำให้เกิดคำว่าดราม่า และยังสร้างวัฒนธรรมดราม่าให้เกิดขึ้นในสังคมนี้อีกด้วย
คงจะไม่ผิดถ้าพูดว่า ตอนนี้เราอยู่ในสังคมดราม่า หรือวัฒนธรรมดราม่ากันถ้วนหน้า เรื่องราวของดาราสาวชื่อดังกับแฟนหนุ่มที่เป็นนักร้องฝันใจวัยรุ่น เป็นเรื่องสุดแสนดราม่าประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา การแถลงข่าวของแต่ละฝ่ายก็เป็นการแสดงออกอย่างดราม่า คนที่ติดตามข่าวนี้ โดยเฉพาะพวกแฟนคลับของทั้งสองฝ่ายกลับดราม่า กว่า นี่ไม่เว้นแม้แต่ผู้สื่อข่าวและผู้อ่านข่าวในจอทีวีบางช่อง ที่ดราม่าที่สุด จนชาวโซเชียลบางคนออกมาค่อนแคะว่า ทีข่าวนายกฯ “ลุงตู่” จัดการกับเรือประมงผิดกฎหมายไม่เห็นจะให้ความสำคัญ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนทั้งชาติ
นอกจากความดราม่าของ “แตงโม-โตโน่” คู่รักโลกแตกแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ข่าวของ 14 นักศึกษาก็จัดว่าเป็นเรื่องดราม่าที่ดูไม่จืดเอามากๆ ข่าวของนักศึกษากลุ่มนี้ได้สร้างกระแสดราม่ามาต่อเนื่องยาวนาน เรียกว่าถ้าเป็นข่าวเมื่อไหร่ก็ดราม่ากันเมื่อนั้น พวกเขาดราม่ากันเองยังไม่พอ แต่พวกที่ถูกมองว่า “โหนกระแส” และบรรดาแฟนคลับทั้งหลายกลับดราม่าหนักเข้าไปอีก
ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสดราม่าก็คงไม่พ้นสื่อออนไลน์ในชุมชนออนไลน์นั่นเอง สังคมออนไลน์เป็นโลกเสมือนจริง อะไรก็ตามที่เป็นภาวะ “เสมือนจริง” หรือ “ล้ำจริง” ก็บอกอยู่ชัดๆ แล้วว่า มันไม่จริง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสังคมออนไลน์บอกว่า เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงเราไม่สามารถดราม่ากันได้ แต่ผมกลับเห็นว่า สังคมไทยตอนนี้ ดราม่ากันทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกแห่งความเป็นจริง จนเราแยกไม่ออกแล้วว่า “ความจริง” กับ “ความลวง” มันต่างกันอย่างไร อาการดราม่าน่าจะเป็นภาวะป่วยไข้ หรือโรคประจำศตวรรษนี้ไปแล้ว อาการดราม่าจึงเป็นความจริงอย่างหนึ่งในสังคมไทยตอนนี้ ความจริงที่ว่าก็คือ เราพากัน “เสียจริต” กันไปยกใหญ่ ท้ายที่สุดก็คือ เราต่างผลิตสร้างความเป็น “ดราม่า” พอๆ กับที่เรา “เสพติด” ความเป็นดราม่านั่นแหละ
ทุกวันนี้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในยุคของนายกฯ ตู่แล้ว ก็น่าสงสาร เดือนสองเดือนมานี้รัฐบาลของลุงตู่ เหมือนอยู่ในภาวะ “โรคร้าย ไข้รุม” หรือ “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” เรียกได้ว่ามีเรื่องปวดหัวมาให้แก้อยู่ตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงก็กลับไม่ค่อยมีคนเห็นใจนายกฯ ลุงตู่กันสักเท่าไหร่ กลับไปทุ่มเทความเห็นใจให้ น้องแตงโม กับโตโน่ หรือกลุ่ม 14 นักศึกษาเสียมากกว่า เวลาผมฟังรายการคืนความสุขของท่านนายกฯ ครั้งไร ผมก็ชักจะเห็นใจท่านมากขึ้นทุกที เพราะสิ่งที่ท่านพูดและทำดูไม่มีใคร “อิน” เอาเสียเลย ทั้งที่หลายเรื่องผมถือว่าแก้ปัญหาได้ดีมาก
ก็ไม่รู้ว่านายกฯ จะรู้ตัวบ้างหรือไม่ว่า ที่แกพร่ำพูดอยู่ทุกวัน มันเป็นเสียงนกเสียงกา มันไม่เป็นดราม่า เลยไม่ค่อยโดนใจแฟนคลับทั้งหลาย ดังนั้นท่านและทีมงานจึงน่าจะเอากรณีความเป็น “ดราม่า” มาศึกษาดูบ้าง เผื่อจะมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาล
แต่ก็หวังว่า คงไม่ได้เห็นข่าวทำนองว่า นายกฯ กินยานอนหลับหวังฆ่าตัวตาย เหตุเกิดจากความตรอมใจที่ประชาชนชาวไทยไม่ยอมรับหรอกนะ.
คมชัดลึก