
เสน่ห์นางรำเพชรบุรี
เสน่ห์นางรำเพชรบุรี : มนุษย์สองหน้า บายไลน์ แคน สาริกา
"แม่สะเดาบ้านนา เธอรู้ไม่ว่า เธองามบาดหัวใจพี่ แม้อยู่บ้านนา ยังงามโสภาบาดตาเพียงนี้.." ไอ้หนุ่มนักเชียร์รำวงขยับลูกคอเพลงดัง 40 ปีก่อน "นางรำ" นับสิบก็นวยนาดออกมาโชว์สเต็ปจังหวะตะลุง เชิญชวนให้ "นักรำสูงวัย" กระโจนขึ้นเวทีราวกับตัวเองเป็นหนุ่มรุ่นกระทง
เมื่อเอ่ยถึงเพชรบุรี ไม่ได้มีแต่ "ขนมหม้อแกง" สำหรับ พ.ศ.นี้ โอท็อปที่ได้รับความนิยม ก็ต้องยกให้ "รำวงย้อนยุค"
สองสามปีมานี้ ทั่วถิ่นฐานย่าน ต.เมืองเพชร รำวงย้อนยุคกลายเป็นมหรสพแถวหน้า ไม่ว่างานบุญ งานบวช งานแต่ง งานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ และสารพัดงานเลี้ยงโต๊ะจีน ก็ต้องมีเวทีรำวง
จริงๆ แล้วคณะรำวง อันประกอบด้วย นางรำ นักเชียร์เพลง และนักดนตรี เป็นวัฒนธรรมการบันเทิงแบบบ้านบ้าน ที่อยู่คู่ชนบทไทยมาช้านาน
คณะรำวงต้องล้มหายตายจากไป เพราะมันเกิด "ศึกชิงนางรำ" บ่อยครั้งถึงขั้นขว้างระเบิดใส่เวทีมาแล้ว ทางการจึงสั่งห้ามจัดให้มีการแสดงของคณะรำวง เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว
เมื่อเวทีรำวงร้างราไป "วงอิเล็กโทน" ก็เข้ามาแทนที่ ทั้่งงานวัดหรืองานบ้าน ต้องว่าจ้างวงอิเล็กโทนมาแสดง แต่พอนานไปผู้สูงวัยชักเบื่อ วัยรุ่นตีกัน จึงมีการรื้อฟื้นกิจกรรม "รำวงย้อนยุค" ขึ้นมา
"อ๊อด โฟร์เอส" อดีตนักเชียร์รำวงจากเมืองกาญจน์ ไปเห็นชาวบ้านเล่นรำวงย้อนยุค จึงปรึกษา มานิตย์ สีเลี้ยง เจ้าของค่ายโฟร์เอส ผุดไอเดียทำอัลบั้มเพลง "รำวงชาวบ้าน" โดยคัดเพลงเด่นๆ ในเวทีรำวงมาอัดเสียง และการถ่ายทำเอ็มวีก็ยกเวทีรำวงมาเปิดการแสดงสด
ผลปรากฏว่า ชาวบ้านร้านถิ่นชื่นชอบอัลบั้มรำวงชาวบ้าน ทำให้ต้องมีเพลงชุดรำวงชาวบ้านออกมาอีกหลายชุด และค่ายโฟร์เอสก็ฟอร์มคณะรำวงขึ้นมา รับงานการแสดงทั่วไป
นับแต่ "อ๊อด โฟร์เอส" มาปลุกผีรำวงชาวบ้าน กระแสรำวงย้อนยุคก็ไหลบ่าจาก "7 จังหวัดภาคตะวันตก" ไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย
เฉพาะที่เมืองเพชร มีคณะรำวงประมาณ 20 คณะ อาทิ โสนน้อยบ้านนา, ส.หาดสวรรค์, ดาวจรัสแสง, เพื่อนใหม่, น้ำตาลหวานเมืองเพชร, ศรีนวลลูกเพชร, แม่ศรีไพร, เพลินพิศวงศ์จินดา, ขวัญใจตาลกง, มังคุดเพชร, ปัทย์แพรวา, ชมพู่เมืองเพชร, เพชรโสภา, ดาวรวมใจ, ชวนชม, ดาราพรเมืองเพชร, บ้านสามเรือน, ดวงพร อเมซซิ่ง, ลูกมะนาวหวาน ฯลฯ
รำวงคณะหนึ่งจะมีนางรำ 20-30 คน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสาวๆ สมัยนี้จะขึ้นเวทีมาเป็นนางรำ แต่พวกเธอจะต่างจากนางรำรุ่นแม่ เนื่องจากคนที่จะขึ้นเวทีมาโค้งเธอไปรำนั้น ล้วนเป็นผู้สูงวัยทั้งสิ้น
วัฒนธรรมการแสดงรำวงย้อนยุคเมืองเพชร แตกต่างจากที่อื่น เจ้าภาพจะว่าจ้างไปแสดงทีละหลายคณะ บ้างจัด 5 เวที บ้างก็จัด 10 เวที นางรำคณะใครคณะมัน แต่กองเชียร์คณะเดียว
รูปแบบเวทีรำวงที่เพชรบุรีดูแปลกตา มีการนำเวทีมาต่อกันยาว เหมือนการเปิดหน้าร้านโอท็อป "นักรำวัยทอง" สนใจคณะไหน ก็เดินขึ้นบันไดไปโค้งนางรำเลย
จุดเด่นของรำวงเพชรบุรีคือ "นางรำสวย" ลีลาการเต้นก็ถอดแบบนางรำรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นจังหวะตะลุุง, บีกิน, กัวราช่า, สามช่า และดิสโก้
แต่ที่ยังต้องปรับปรุงคือ กองเชียร์เป็นคนรุ่นใหม่ ร้องไม่ถึง พวกเขาจึงต้องแบ่งเป็น "รอบย้อนยุค" กับ "รอบร่วมสมัย" ส่วนไฟแสงสีเสียงก็สมราคาบ้านบ้าน
หากมองด้านโครงสร้างประชากร เมืองไทยได้เข้าสู่ "สังคมสูงวัย" มาตั้งแต่ปี 2543 จึงไม่น่าแปลกใจที่ "รำวงย้อนยุค" จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
พ.ศ.นี้ เสียงเพลงรำวงดังกังวานผ่านทิวทุ่งดงตาล เสน่ห์นางรำ..ก็เป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมบ้านบ้าน ที่เร้าใจคนสูงวัยให้อยากไปเยี่ยมเยือนเมืองเพชรบุรี