คอลัมนิสต์

มนุษยธรรมที่คลุมเครือ

มนุษยธรรมที่คลุมเครือ

12 มิ.ย. 2558

มนุษยธรรมที่คลุมเครือ : โดยวิธีของเราเอง โดยไพฑูรย์ ธัญญา

               ว่ากันว่าวรรณกรรมที่ดีและเป็นอมตะนั้น มักจะมีเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างมนุษย์กับถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่เสมอ ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมีวรรณกรรมอีกหลายเรื่องที่บอกเล่าถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินมาตุภูมิ  ความรักชาติ รักแผ่นดินถิ่นเกิด กลายเป็นอุดมการณ์สำคัญที่ผู้คนในแทบทุกพื้นที่ต่างปลูกฝังถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่ง เหตุผลสำคัญที่ทำให้แต่ละประเทศมีกองทัพและอาวุธยุโทปกรณ์ก็เพื่อไว้ปกป้องแผ่นดินให้รอดพ้นจากการคุกคามของผู้รุกรานนั่นเอง


               คนที่จากบ้านไปไกลด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม  นักจะมีความรู้สึกว่าตนเอง "ประหนึ่งนกที่จากรัง"  ด้วยว่าถูกตัดขาดจากรกรากและแผ่นดินถิ่นเกิด  แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ไม่เคยพ้นเรื่องของการอพยพย้ายถิ่น การจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่งอาจมีเหตุผลมากมาย ทั้งที่สมัครใจเพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า กับที่จากไปโดยถูกบีบคั้นและกดดันให้จำใจจาก 

               ปลายทศวรรษที่ 1975 ถึง 1980 โลกพากันสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของชาวเวียดนามใต้ ที่พากันผละทิ้งแผ่นดินถิ่นเกิดด้วยภัยคุกคามจากสงคราม  ดังที่ แอ๊ด คาราบาว เคยเขียนไว้ว่า "โดนละเลงสงครามเสียจนสิ้นแผ่นดิน" เหตุการณ์คราวนั้นนำมาซึ่งตำนานของ "เรฟูจีและคนเรือ"  (Boat People) เพราะเป็นการอพยพลี้ภัยของผู้คนผู้ได้รับชะตากรรมจากสงครามครั้งยิ่งใหญ่  ที่คนเวียดนามใต้พากันหนีตายจากการเข้ายึดครองของเวียดนามเหนือ ซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์  คนไทยส่วนมากเพิ่งได้ยินคำว่า "เรฟูจี" ก็ในคราวนั้น

               สงคราม คือสาเหตุใหญ่ของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนหรือ "เรฟูจี" มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สงครามทำให้เกิดการกวาดต้อนผู้คนจากแผ่นดินหนึ่งไปสู่อีกแผ่นหนึ่ง แต่ที่มากที่สุดก็คือ ผู้คนที่ได้รับภัยสงครามพากัน "หนีตาย" จากแผ่นดินมาตุภูมิสู่แผ่นดินใหม่ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะไปทางบกหรือทางน้ำ

               พวกเรฟูจีที่หนีภัยมาทางเรือ เราเรียกกันว่า คนเรือ หรือ boat people  พวกเขาจะพากันแออัดยัดเยียดล่องเรือไปในทะเลเวิ้งว้าง  เพื่อไปสู่ดินแดนที่ปลอดภัยและมีมนุษยธรรม แน่นอน ใช่ว่าคนเรือทุกคนจะปลอดภัย เพาะการลอยเรืองเท้งเต้งในผืนน้ำกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยคลื่นลมและภยันตราย มันแทบไม่มีหลักประกันใดๆ ให้ชีวิต  แต่มนุษย์ก็มีความหวังเสมอ

               ตำนานเรฟูจีและคนเรือชาวเวียดนามจบสิ้นไปนานแล้ว เหลือไว้ก็เพียงแต่ความทรงจำให้เราได้เรียนรู้ศึกษา  บันทึกความทรงจำของชาวเวียดนามคนหนึ่งระบุว่า จำนวนพวกเรฟูจีที่พากันลงเรือทิ้งแผ่นดินนั้น เสียชีวิตไปกับคลื่นลมประมาณ 25 %  และอีกนับพันคนต้องตายไปเพราะการปล้นเรือโดยโจรสลัดชาวไทย หญิงสาวจำนวนไม่น้อยถูกข่มขืนและฆ่า มีบางส่วนถูกจับไปขายเป็นโสเภณีในประเทศไทย  ผมเคยอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ที่ชื่อว่า "เรือญวน" รู้สึกสะท้อนสะท้านไปกับชะตากรรมของคนเรือเวียดนาม ที่ถูกปล้นฆ่ากลางทะเลอ่าวไทย เช้าๆ ชาวบ้านที่อยู่ริมทะเลแถวสิชลและท่าศาลา จะพากันมาหาศพคนญวนที่ถูกคลื่นซัดเกยฝั่ง  เมื่อพบ พวกเขาจะผ่าท้องเหยื่อชาวเวียดนามเหล่านั้น  เพื่อค้นหาทองคำที่พวกเขากลืนลงไประหว่างถูกโจรสลัดปล้นกลางทะเล

               คนเรือชาวเวียดนามที่ลี้ภัยจากสงครามในวันนั้น ส่วนมากได้รับการช่วยเหลือให้ไปอยู่ในประเทศที่สาม ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและฝรั่งเศส พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่าเดิม  แต่ใครจะรู้ว่า พวกเขาเหล่านั้นต้องทนสู้กับความคิดถึงถิ่นฐานบ้านเกิดมากแค่ไหน การเป็นคนพลัดถิ่นนั้นโหดร้ายเสมอ

               ถึงตอนนี้ตำนานเรฟูจีหน้าใหม่ก็ได้รับการบันทึกและกล่าวขานอีกครั้งหนึ่ง     ตำนานคนเรือในยุคโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นทั้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอันดามัน  ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนคือกลุ่มเรฟูจีที่หนีภัยสงครามในตะวันออกลาง โดยเฉพาะจากประเทศซีเรีย รายงานข่าวต่างประเทศระบุว่า สงครามกลางเมือในซีเรียทำให้เกิดการย้ายถิ่นในประเทศประมาณ 8 ล้านคน และอีกประมาณ 4 ล้านคนถูกบีบคั้นให้อพยพออกนอกประเทศ ส่วนในทะเลอันดามันก็คือกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยและประเทศในอาเซียนหลายประเทศ ชะตากรรมของคนสองกลุ่มนี้  แม้จะมาจากสาเหตุต่างกัน แต่ชะตากรรมที่พวกเขาได้รับมันแทบไม่ต่างกันเลย

               โรงฮิงญา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แสนอาภัพ  เรื่องราวของพวกเขาซับซ้อนซ่อนเงื่อนและเต็มไปด้วยปมปัญหาที่ตกค้างมาจากประวัติศาสตร์ ผสมด้วยปัญหาทางเชื้อชาติและศาสนา  การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของโรฮิงญาเป็นโศกนาฏกรรมบทใหม่ของมนุษยชาติ และท้าทายสำนึกและปฏิบัติด้านมนุษยธรรมของประเทศที่เกี่ยวข้องหลายประเทศ และนับวันจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศไปในที่สุด  ขณะกลุ่มคนเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็กล้างปัญหาให้กับประเทศอิตาลีและประเทศที่เกี่ยวข้องไปเต็มๆ  โดยที่องค์กรอย่างสหประชาชาติก็แทบจะทำอะไรไม่ได้ถนัดถนี่

               ตำนานเรฟูจีในทศวรรษนี้ เลวร้ายกว่าการหนีตายของคนเรือเวียดนามเมื่อหลายสิบปีก่อน ด้วยว่าพวกเขาไม่เพียงแต่ต้องเผชิญอันตรายจากธรรมชาติขณะเดินทาง  แต่มันกลับถูกมนุษย์ด้วยกันเองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนอพยพจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำซ้อน  กลุ่มคนเรืออพยพของยุโรปที่เดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถูกขบบวนการค้ามนุษย์เข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบ และมีเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นอย่างซับซ้อนและเลวร้าย  นี่ก็ไม่ต่างจากกลุ่มคนเรือชาวโรฮิงญาที่ถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยการฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์ของเครือข่ายนักค้ามนุษย์ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน  มิหนำซ้ำ ยังถูกหวาดระแวงจากประเทศต่างๆ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศ และรวมไปถึงเหตุผลเชิงวัฒนธรรม  ที่ทำให้แต่ละฝ่ายที่ยึดถือในหลักการดังกล่าวพากันอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก  แต่ละประเทศต่างก็ยืนยันในเหตุผลและหลักการของตนเองอย่างเหนียวแน่น

               ปัญหาของคนเรือในทะเลอันดามันและเมดิเตอร์เรเนียนจึงยังคงเป็นปัญหาทางมนุษยธรรมที่คลุมเครืออีกต่อไป