คอลัมนิสต์

โศกนาฏกรรมกลางลำน้ำงึม

โศกนาฏกรรมกลางลำน้ำงึม

04 มิ.ย. 2558

โศกนาฏกรรมกลางลำน้ำงึม : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

               แม่น้ำงึม เป็นแม่น้ำที่มีความยาว 354 กิโลเมตร ไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณเมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ (เดิมเรียกว่า กำแพงนครเวียงจันทน์) ตรงข้าม อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

               ต้นน้ำของแม่น้ำงึม อยู่ในเขตที่สูงของแขวงเชียงขวาง และไหลลงใต้ผ่านแขวงเวียงจันทน์ (แขวงเวียงจันทน์ คนละที่กับนครหลวงเวียงจันทน์) สมัยราชอาณาจักรลาวได้มีการสร้าง "เขื่อนน้ำงึม" เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และมีการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งมาขายให้แก่ภาคอีสานของไทย

               เขื่อนน้ำงึม เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศลาว ตั้งอยู่ในเขตเมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์ จวบจนมาถึงยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 ทางตอนเหนือของแขวงเชียงขวาง

               วันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แม่น้ำงึมกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งลาว และไทย เมื่อเกิดเหตุโศกนาฏกรรม "เฮือบัก" (แพขนานยนต์) ล่มกลางลำน้ำที่ไหลแรง ทำให้เด็กนักเรียนวัย 10-11 ปี จำนวน 10 คน จมน้ำเสียชีวิต

               เช้าวันนั้น นักเรียนจากโรงเรียนบ้านหัวนาทุ่ง จำนวน 35 คน ต้องข้ามเรือที่บ้านนาบง ข้ามไปสอบชั้นประถมปีที่ 5 ที่โรงเรียนบ้านท่ากกไฮ ซึ่งเป็นการสอบเลื่อนชั้นขึ้นมัธยม 1 โดยลง "เฮือบัก" (แพขนานยนต์) ที่รับส่งผู้คนข้ามแม่น้ำงึมเป็นปกติ บริเวณท่าเรือบ้านนาบง เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์

               ปรากฏว่าเช้านั้น เฮือบักรับนักเรียน 35 คน ครู 4 คน และคนขับเรือหางยาว รวมแล้ว 40 ชีวิต เหตุที่นักเรียนจะรีบไปสอบ ก็เลยต้องรับหมด ผลปรากฏว่าคนบนเฮือบัก มันมากเกินที่จะรับไหว เมื่อถึงกลางลำน้ำก็เกิดล่ม

               เด็กๆ และผู้ใหญ่ว่ายน้ำหนีตายกันอลหม่าน แต่มีเด็กนักเรียนหญิง 8 คน และนักเรียนชาย 2 คน ที่ฝืนกระแสน้ำไม่ไหวและได้จมหายไปในสายน้ำ

               หน่วยอาสากู้ภัยนครหลวงเวียงจันทน์ นำทีมงานพร้อมอุปกรณ์ดำน้ำมาช่วยค้นหาเด็กๆ ที่สูญหาย สมทบกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิประชาธรรม อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ที่เดินทางมาตามคำร้องขอทางการลาว

               บ่ายจนค่ำวันนั้น ท่านสายทอง แก้วดวงดี เจ้าผู้ครองนครหลวงเวียงจันทน์ ได้มาบัญชาการค้นหาเด็กๆ พร้อมกับหน่วย ปกส.เมืองปากงึม แต่ในการค้นหาวันแรก ไม่พบศพเด็กแม้แต่รายเดียว

               จนย่างเข้าสู่วันที่ 2 ของการค้นหา จึงพบร่างไร้วิญญาณของนักเรียน 6 ศพ และในบ่ายวันที่ 29 พฤษภาคม คณะการนำเมืองปากงึม ร่วมกับชาวบ้าน ได้จัดงาน "ส่งสะกาน" (ฌาปนกิจศพ) เด็กนักเรียนที่วัดหัวนาทุ่ง โดย ท่านทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีส่งสะกานครั้งนี้ด้วย 
 
               ถ้าติดตามข่าวสารจากสื่อโซเชียลมีเดียของชาวลาว พบว่าทุกคนโศกเศร้ากับข่าวเรือข้ามฟากล่ม โดยเฉพาะการสูญเสียชีวิตของเด็กนักเรียนนับสิบคน ถือว่าเป็นการโศกนาฏกรรมที่เกิดกับเด็กเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดของลาว

               เหล่าศิลปินเพลงลาว ได้แต่งเพลงไว้อาลัยให้แก่การจากไปของเด็กๆ และอัดคลิปลงบนยูทูบ ก็มีคนลาวเข้าไปกดไลค์มากมาย หรือในเฟซบุ๊กของ Chanthaphone Vannachith นักข่าวประจำสำนักข่าวสาร "ปะเทดลาว" ได้เขียนลำนำเรื่อง "คำสุดท้ายของแม่" ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์เรือล่มในวันนั้น

               "ลูกเอ๋ย! ลูกยังบ่ทันได้กินข้าวเช้า

               แม่สิแต่งห่อข้าวให้ลูกไปกินอยู่โรงเรียนเด้อ

               ไปแต่เช้า กินอิ่มแล้วเข้าห้องสอบ

               ปีนี้ ขอให้ลูกสอบจบชั้น ป.5

               ให้ได้อันดับดีกว่าเพื่อนๆ

               ลูกเป็นเด็กดี สอบแล้วให้ลูกกลับคืนเฮือนเฮาเน้อ

               และแล้ว แม่ก็บ่เห็นหน้าลูกกลับมา

               พอรู้ข่าวว่า เรือล่มจมน้ำ

               แม่ก็ช็อกเป็นลม"

               ในเหตุการณ์อันเศร้ารันทดครั้งนี้ คนลาวได้โพสต์ข้อความขอบคุณทีมงานกู้ภัยจากอุดรธานี หนองคาย และเพชรบูรณ์ ที่ยกทีมงานไปช่วยเหลือค้นหาร่างเด็กๆ ที่จมอยู่ใต้น้ำ ตั้งแต่วันแรกจนถึง 2 มิถุนายน

               เนื่องใน "วันเด็กน้อยสากล" เมื่อ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลลาวสร้าง "ขัวข้ามงึม" หรือสะพานข้ามน้ำงึม เพื่อดวงวิญญาณเด็กทั้งสิบไปสู่ภพภูมิที่ดี