
การเมืองเรื่องรถไฟจีน-ลาว-ไทย
19 มี.ค. 2558
การเมืองเรื่องรถไฟ "จีน-ลาว-ไทย" : คอลัมน์ มนุษย์สองหน้า โดย... แคน สาริก
บรรดาขาเชียร์ คสช. ที่โผล่หน้าจอทีวีดาวเทียม ต่างก็โอ้อวดผลงานของ "นายกฯ ลุงตู่" กรณีที่จะมีความร่วมมือกันในการก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมต่อจากลาวมายังไทย
หลายปีก่อน คนไทยกลุ่มหนึ่งมักพูดว่า ไทยล้าหลังกว่าลาว เพราะเพื่อนบ้านเรามีโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้ว
สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารจากฝั่งลาว โครงการรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์ของชาติ มิได้ราบรื่นดั่งที่ "ผู้นำรัฐบาลลาว" คิดฝันไว้
นับจากวันที่มีการลงนามเอ็มโอยูลาว-จีน ผ่านมาแล้ว 5 ปี ก็ยังทำได้แค่การสำรวจและออกแบบได้บางส่วน
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ที่แผนกโยธาธิการและขนส่ง แขวงหลวงพระบาง สมสะหวาด เล้งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในฐานะหัวหน้าคณะชี้นำโครงการรถไฟลาว-จีน ได้เรียกประชุมรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง และเจ้าแขวงที่มีทางรถไฟตัดผ่านคือ แขวงหลวงน้ำทา, แขวงอุดมไซ, แขวงหลวงพระบาง, แขวงเวียงจันทน์ และนครหลวงเวียงจันทน์
เดิมทีการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน ได้มีข้อตกลงเบื้องต้นในปี 2553 แต่ก็มีปัญหาด้านเงินทุน และการออกแบบก่อสร้างหลายอย่าง จึงมิอาจลงมือก่อสร้างได้
การประชุมเตรียมการของฝ่ายลาวครั้งล่าสุดนี้ "สมสะหวาด" รองนายกรัฐมนตรี คาดหมายว่า รัฐบาลลาวกับจีน จะสามารถบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการก่อสร้างทางรถไฟที่เชื่อมต่อลาวกับจีน ภายในเดือนมิถุนายน 2558 และต่อจากนั้น รัฐบาลลาวจะเสนอข้อตกลงดังกล่าวเพื่อขออนุมัติจากสภาแห่งชาติลาวทันที
จริงๆ แล้ว ลาวสามารถเชื่อมต่อการคมนาคม-ขนส่งกับทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงด้วยกันได้ในทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ คือถนนเลข 3 ในแขวงหลวงน้ำทาที่เชื่อมต่อกับจีนและไทย และการเชื่อมต่อเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก คือถนนเลข 9 ในแขวงสะหวันนะเขตก็เป็นศูนย์การเชื่อมต่อกับพม่า-ไทย-เวียดนาม
แต่เป้าหมายสำคัญที่สุดของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็คือ การเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อรถไฟจีน-อาเซียนให้ได้
รูปแบบของการร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาวกับจีนในการก่อสร้างทางรถไฟนั้น จะเป็นการร่วมทุนด้วยการก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบการก่อสร้างและบริหารโครงการร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันคณะรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินการเจรจาเพื่อตกลงกันเกี่ยวกับแบบก่อสร้าง การกำหนดสัดส่วนการร่วมทุนและการหาแหล่งเงินทุนกู้ยืม
มีความเป็นไปได้อย่างมากที่รัฐบาลลาวกับจีนจะลงทุนขั้นเบื้องต้นในมูลค่า 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ส่วนที่จะกู้ยืมจากธนาคารการค้านำเข้าและส่งออกของทางการจีนนั้น จะมีมูลค่ารวมไม่ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตามข้อตกลงเดิมระหว่างลาวกับจีนนั้น เส้นทางรถไฟลาว-จีน จะมีระยะทางยาว 417.68 กิโลเมตร รางกว้าง 1.435 เมตร ซึ่งจะใช้เงินลงทุนสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหตุที่มูลค่าการก่อสร้างลดลงจากเดิมนั้น เนื่้องจากการเจรจารอบใหม่ระหว่างลาวกับจีน ได้ปรับให้เป็นทางคู่ที่เหมาะสำหรับรถไฟความเร็ว 160 และ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามลำดับ
อันสอดคล้องกับการที่รัฐบาลไทยกับจีนก็ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการร่วมมือในการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่และความเร็วเท่ากัน
นี่คือยุทธศาสตร์ในการที่จะสร้างเส้นทางสายไหมลงใต้ของจีน โดยสร้างทางรถไฟมาตรฐานมาที่ลาวผ่านไทยไปมาเลเซียและสิงคโปร์
สรุปว่า รัฐบาลลาวยินยอมให้ปรับเปลี่ยนแผนการก่อสร้างทางรถไฟในลาว เพื่อให้สอดคล้องกับเอ็มโอยู ระหว่างไทยกับจีน
ความล่าช้าของโครงการรถไฟลาว-จีน อาจสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองในไทยในอดีต และมาถึงวันนี้ รัฐบาลจีนมีความสนิทแนบแน่นกับรัฐบาลทหารของไทย จึงส่งผลให้โครงการรถไฟลงใต้ของจีน มีความคืบหน้าทั้งฝั่งลาวและไทย
ชะตากรรมของโครงการรถไฟทางคู่ในไทย ก็คงไม่ต่างจากลาว เพราะต้องพึ่งเงินทุนจากจีน จึงต้องเดินตามเงื่อนไขที่จีนเป็นผู้กำหนด