คอลัมนิสต์

ทอ.รำลึกสดุดีวีรชน8ธันวา‘กองบินน้อยที่5’

ทอ.รำลึกสดุดีวีรชน8ธันวา‘กองบินน้อยที่5’

27 พ.ย. 2557

ทอ.รำลึกสดุดีวีรชน8ธันวา‘กองบินน้อยที่5’ในตำนาน : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

             วันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี กองบิน 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดงาน "สดุดีวีรชน" เพื่อสดุดีวีรชน ผู้กล้าที่เสียสละชีวิตปกป้องแผ่นดินไทยจากการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 โดยการจัดงานสดุดีวีรชนในวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ณ กองบิน 5 เช่นเดียวกับทุกปี

             โดย พล.อ.อ.วรฉัตร ธารีฉัตร ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ ร่วมกับ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางอรสา อาวุธคม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายรณชิต สิงหเสมานนท์ ปลัดอบจ.ประจวบคีรีขันธ์ พล.อ.ท.ศรีศักดิ์  สุจริตธรรม อดีตวีรชน และ น.อ.พิทูร เจริญยิ่ง ผู้บังคับการกองบิน 5

             การจัดงานสดุดีวีรชนประจำปี 2557 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-13 ธันวาคม 2557 โดยมีกิจกรรมต่างๆ ของกองบิน 5 เช่น การแข่งขันนกกรงหัวจุก, การแข่งขันฟุตบอล, การประกวดวงดนตรี, กิจกรรมพิชิตเขาล้อมหมวก, รำวงย้อนยุค, คอนเสิร์ตสตริง-ลูกทุ่ง, การแข่งขันเปตอง, การประกวดภาพถ่าย, การแข่งขันกอล์ฟ, การแข่งขันเครื่องบินเล็กบังคับวิทยุ, การจำหน่ายสินค้าธงฟ้า เป็นต้น

             พล.อ.อ.วรฉัตร ย้ำถึงวีรกรรมของนักรบไทยในครั้งนั้นว่า เมื่อเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ทหารอากาศแห่งกองบินน้อยที่ 5 หรือกองบิน 5 ในปัจจุบัน ทหารอากาศ ตำรวจ ยุวชนทหาร และประชาชนชาวประจวบคีรีขันธ์ได้ร่วมกันป้องกันรักษาอธิปไตยของประเทศไทยจากการรุกรานของทหารญี่ปุ่นในช่วงเริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา

             เช้าวันนั้นกองกําลังทหารญี่ปุ่นซึ่งมีกําลังพลประมาณ 4,000 คน พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเต็มกําลังรบได้ลําเลียงพลจากเรือรบที่จอดแอบซุ่มอยู่หลังเขาล้อมหมวก ได้ยกพลขึ้นบกที่บริเวณตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ อ่าวประจวบ อ่าวมะนาว เพื่อยึดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และกองบินน้อยที่ 5 เป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปยังประเทศพม่าทางด่านสิงขร

             แต่ในขณะที่กองกำลังทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกนั้นได้เกิดการปะทะกับกําลังทหารอากาศของกองบินน้อยที่ 5 ภายใต้การนําของ นาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับการกองบินน้อยที่ 5 อย่างดุเดือด

             "ทหารอากาศของกองบินน้อยได้ต่อสู้ต้านทานอย่างสุดความสามารถด้วยกําลังทางอากาศและกําลังภาคพื้นดินที่มีเพียง 140 คน หลังสิ้นสุดการรบอันยาวนานเกือบ 36 ชั่วโมง ปรากฏว่าฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งมีกําลังมากกว่าไทยหลายเท่าเสียชีวิตในสนามรบ 217 คน ขณะที่ฝ่ายไทยมีทหารอากาศ, ยุวชนทหาร ตํารวจ และครอบครัวทหารอากาศ เสียชีวิตรวม 42 คน"

             ต่อมา รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้เจรจาตกลงกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อจับมือเป็นพันธมิตรกัน และได้มีคําสั่งให้ยุติการสู้รบ เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา

             กระนั้น การสู้รบที่กองบินน้อยที่ 5 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ถือเป็นเหตุการณ์สําคัญในประวัติศาสตร์ของการสู้รบที่แสดงให้เห็นถึงวีรกรรมความกล้าหาญของทหารอากาศแห่งกองบินน้อยที่ 5 รวมทั้งกำลังตำรวจ ยุวชนทหาร และชาวประจวบคีรีขันธ์ที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังตราบจนทุกวันนี้

             เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติการต่อสู้อันกล้าหาญของนักรบแห่งกองบินน้อยที่ 5 และวีรชนชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ยอมสละชีวิตเป็นชาติพลีปกป้องผืนแผ่นดินไทยไว้จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ “วีรชน 8 ธันวาคม 2484” ณ ที่ตั้งกองบินน้อยที่ 5 โดยสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2493

             ต่อมา ได้มีการปรับปรุงให้มีความสง่างามมากยิ่งขึ้น พร้อมประกอบพิธีเชิญอัฐิของวีรชนผู้เสียชีวิตจาก "อนุสาวรีย์กองทัพอากาศ" มาบรรจุไว้เมื่อปี 2532 โดยในวันที่ 8 ธันวาคมของทุกปี กองทัพอากาศได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชน 8 ธันวาคม 2484 และจัดงาน “สดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484” เพื่อระลึกถึงวีรกรรมในการป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยจากอริราชศัตรู

             ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 กองทัพอากาศได้กระทําพิธี "ประดับเหรียญกล้าหาญ" บน "ธงชัยเฉลิมพล" ของกองบินน้อยที่ 5 นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดที่ได้จารึกไว้ต่อไป