คอลัมนิสต์

ยอดนักรบกองทัพอากาศ

ยอดนักรบกองทัพอากาศ

06 พ.ย. 2557

ยอดนักรบกองทัพอากาศ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

                ความขัดแย้งบนเวทีระหว่างประเทศทำให้ "การก่อเหตุร้ายบนอากาศยาน" มีความเสี่ยงมากขึ้นทุกขณะ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงจึงได้มีการฝึกเพื่อเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องภายใต้ "หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ" ที่มีพิธีการเปิดฝึกเป็นรุ่นที่ 10 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557

                พล.อ.ท.ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ ผู้บัญชาการอากาศโยธิน กล่าวถึงความเป็นมา และความสำคัญของการฝึกดังกล่าวว่า หน่วยคอมมานโด กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน มีภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย การปราบปรามการก่อการร้ายสากล การถวายความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์ การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เป็นต้น

                ปฏิบัติการครั้งสำคัญของคอมมานโดกองทัพอากาศ (ทอ.) เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2524 ที่มีการปล้นยึดอากาศยานบนสายการบินการูด้า ประเทศอินโดนีเซีย มาลงที่สนามบินดอนเมือง คอมมานโด ทอ. ร่วมกับคอมมานโดอินโดนีเซีย เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกจับเป็นตัวประกันจนสามารถช่วยเหลือผู้โดยสารได้ทั้งหมด

                เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นในการฝึกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษอย่างเข้มข้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การก่อการร้ายสากล โดยกองทัพอากาศได้เปิดหลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษคอมมานโด รุ่นที่ 1 ตั้งแต่ห้วงนั้นเรื่อยมา หลักสูตรคอมมานโดกองทัพอากาศจึงดำเนินการเปิดหลักสูตรทุกปี ปีละ 1 รุ่น โดย "ไม่จำกัดเหล่า"

                แต่มีต้องมีคุณสมบัติ ประกอบด้วย 1.ทหารกองประจำการ (ประจำการ 2 ปีเต็ม) 2. นายทหารประทวนชั้นยศจ่าอากาศตรี ถึงจ่าอากาศเอก 3.นายทหารสัญญาบัตรชั้นยศเรืออากาศตรีถึงเรืออากาศโท 4.อายุไม่เกิน 27 ปี 5.สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป 6.ผ่านการตรวจสุขภาพร่างกาย และผ่านการทดสอบทางจิตวิทยาจากสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ

                ถ้าผู้สมัครมีคุณสมบัติครบถ้วน และผ่านการทดสอบทุกขั้นตอนก็สามารถเข้ารับการศึกษาได้ โดยหลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ รุ่นที่ 10 มีผู้เข้ารับการศึกษาทั้งสิ้น 35 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 1 คน นายทหารประทวน 30 คน และทหารกองประจำการ 4 คน

                หลักสูตรการฝึกในรุ่นที่ 10 ที่มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 จะมีการฝึกไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2558 รวม 22 สัปดาห์ หรือประมาณ 5 เดือนเศษ ในห้วงแรกจะฝึกภาคที่ตั้งประมาณ 3 เดือน ณ ศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

                จากนั้นจะเดินทางไปฝึกภาคป่าเล็กที่ กองบิน 2 จ.ลพบุรี เพื่อทดสอบความรู้ และการปฏิบัติยุทธวิธีปฏิบัติการพิเศษที่เรียนมาจากภาคที่ตั้งใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์

                ขั้นสุดท้าย นักเรียนทุกคนจะเข้าทำการฝึกภาคทะเลที่ลุ่ม ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่ได้เรียนมาทั้งหมดในหลักสูตรไปปฏิบัติจริงในพื้นที่จริง ณ พื้นที่ จ.จันทบุรี ระยอง และชลบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งผู้ที่สามารถผ่านการปฏิบัติทั้ง 3 ส่วนได้จะถือว่าสำเร็จการศึกษาโดยสมบูรณ์ เป็น "กำลังรบภาคพื้น" ที่จัดว่าเป็น "สุดยอดนักรบ" แห่งกองทัพอากาศ

                นอกจากภารกิจการปราบปรามการก่อการร้ายสากล และการรักษาความปลอดภัยแล้ว คอมมานโดยังมีภารกิจการค้นหาและช่วยชีวิต ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ PJ. (Pararescue Jumper) การปฏิบัติการในพื้นที่การรบเป็นงานของชุด CCT (Combat Control Team) นำอากาศยานเข้าปฏิบัติการต่อเป้าหมาย และการส่งลงสิ่งบริภัณฑ์ทางอากาศ (CDS : Container Delivery System)

                พล.อ.ท.ชาญฤทธิ์ ระบุว่า ปฏิบัติการครั้งสำคัญของทางหน่วย คือ การนำคนไทยในกัมพูชากลับประเทศไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศกัมพูชา และอีกครั้ง คือ เหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชาเมื่อปี 2546 ซึ่งทางหน่วยได้พาคนไทยออกจากกัมพูชาด้วยเครื่องบินซี 130 โดยสวัสดิภาพ

                ทั้งนี้ นอกจากการฝึกเป็นการภายในแล้ว ทางหน่วยยังมีการฝึกร่วม และการฝึกร่วม / ผสม อยู่เป็นประจำ เช่น การฝึกร่วม-ผสม ไทย/สหรัฐ Cobra gold, การฝึก Balance Teak Torch, การฝึก Vector balance torch, การฝึกร่วม-ผสม ไทย/ออสเตรเลีย ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการร้ายสากล กองบัญชาการกองทัพไทย ภายใต้รหัส Day Panther, Night Panther เป็นต้น
..................................

(หมายเหตุ : ยอดนักรบกองทัพอากาศ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)