
พล.ร.9ช่วยชาวสังขละฯฟื้นตำนานสะพานมอญ
พล.ร.9ช่วยชาวสังขละฯ ฟื้นตำนานสะพานมอญ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง
เหตุการณ์ "สะพานอุตตมานุสรณ์" ที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า "สะพานมอญ" ที่หลวงพ่ออุตตมะ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ได้สร้างขึ้นไว้เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรข้ามแม่น้ำซองกาเลีย ระหว่างบ้านวังกะ (หมู่บ้านชาวมอญ) หมู่ 2 กับหมู่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ถูกกระแสน้ำป่าพัดถล่มเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
สำหรับสะพานไม้ (สะพานมอญ) มีการบูรณะใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2535 ขณะนั้นหลวงพ่ออุตตมะยังมีชีวิตอยู่ก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันทำให้สะพานพังเสียหาย แต่ไม่รุนแรงเหมือนกับในปัจจุบัน ที่ผ่านมาหลวงพ่ออุตตมะใช้วิธีบอกบุญ โดยใช้วัสดุเป็น "ไม้แดง" ทั้งหมดในวงเงินราว 5 ล้านบาท
ส่วนในครั้งนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามารับเหมาซ่อมแซมสะพาน ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2557 สัญญาสิ้นสุดวันที่ 6 สิงหาคม 2557 วงเงินค่าจ้าง 16,347,000 บาท แต่ไม่สามารถซ่อมบูรณะให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญาในที่สุด
ต่อมา ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องขอให้กองพลทหารราบที่ 9 เข้ามาช่วยเหลือซ่อมแซมสะพาน พล.ต.ไพโรจน์ ทองมาเอง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 จึงสั่งการให้กองพันทหารช่างที่ 9 และหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้าส่งกำลังพล 60 นาย พร้อมเครื่องมือเข้าไปดำเนินการ
การซ่อมแซมสะพานเป็นความร่วมมือกันระหว่างวัดวังก์วิเวการาม กับชุมชนอำเภอสังขละบุรี โดยมี พ.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 19 และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า เป็นผู้รับผิดชอบดูแลในภาพรวม
พ.อ.สนิธชนก กล่าวถึงภารกิจดังกล่าวว่า กองพลทหารราบที่ 9 จัดกำลังพลจากกองพันทหารช่างที่ 9 ที่มีความชำนาญด้านวิศวะโยธาเข้ามาควบคุมให้งานมีมาตรฐานและความปลอดภัย
"ก่อนที่จะลงมือซ่อมแซมสะพาน ทหารช่างจะต้องลงพื้นที่เพื่อสำรวจถึงแผนการก่อสร้างที่เดิมทำเอาไว้ เพราะต้องการที่จะทำให้เป็นมาตรฐาน โดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา โดยวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไม้ของเก่ามาจากบริษัทเอกชนเดิมทิ้งไว้ให้ รวมถึงอุปกรณ์ไม้ของวัด ที่ทางวัดเก็บไว้ในช่วงที่สะพานเกิดชำรุด"
พ.อ.สนิธชนิก ระบุว่า การดำเนินการจะประกอบกันจาก 3 ส่วน คือ วัดวังก์วิเวการาม ที่มีเครื่องมือในการก่อสร้าง รวมถึงหัวหน้าช่างใหญ่ที่เคยร่วมก่อสร้างสะพานแห่งนี้มาในอดีต นอกจากนี้ยังมีกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 9 จำนวน 60 นาย พร้อมประชาชนในพื้นที่ และจังหวัดกาญจนบุรี
"ตอนนี้เราไม่เพียงซ่อมสะพานมอญเพียงอย่างเดียว แต่เรายังต้องซ่อมสะพานไม้ไผ่ด้วย เนื่องจากสะพานไม้ไผ่มีอายุการใช้งาน ตรงไหนชำรุดก็จะต้องเปลี่ยน ซึ่งการดำเนินการเหมือนกับเป็นการปะผุรถยนต์ ซึ่งจะพยายามทำให้ดีที่สุด"
พ.อ.สนิธชนก กล่าวว่า เรื่องงบประมาณการซ่อมสร้างทางวัดและชุมชนเป็นผู้ดูแลและจัดการเองทั้งหมด ทหารจะไม่จับเงิน และไม่ยุ่งเกี่ยว หากทหารจะใช้วัสดุอะไรก็จะแจ้งให้ทางวัดรับทราบ ทหารเพียงใช้แรงงาน และความเป็นวิศวกรควบคุมงานเท่านั้น ที่ผ่านมานอกจากจะสร้างใหม่แล้ว ยังมีการซ่อมปรับปรุงเพิ่มเติมอีกด้วย
"ปัจจุบันเหลือขั้นตอนการต่อเสาจากตอม่อจำนวน 5 ช่วง คิดเป็นระยะประมาณ 25 เมตร รวมถึงเหลืองานเครื่องบนคือการวางตง ปูพื้น และราวสะพานด้วย” พ.อ.สนิธชนก เผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน
พ.อ.สนิธชนก กล่าวถึงอุปสรรคในการทำงานช่วงนี้ด้วยว่า คือสภาวะอากาศ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ อ.สังขละบุรี มีฝนตกทุกวัน ซึ่งจะต้องระมัดระวังเนื่องจากเครื่องมือบางชนิดต้องใช้กระแสไฟฟ้า จึงยังไม่สามารถระบุวันได้ว่าการซ่อมแซมสะพานจะเสร็จเมื่อใด เพราะจะต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ได้มาตรฐาน
"เราจะต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะประชาชนในพื้นที่ลำบากมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ใช้สะพานมอญเป็นเส้นทางสัญจรไปโรงเรียน เมื่อสะพานชำรุดทำให้เด็กนักเรียนต้องใช้เส้นทางอื่น โดยเฉพาะรถรับจ้างที่จะต้องเสียค่าบริการครั้งละไม่ต่ำกว่า 80 บาทต่อครั้ง แม้ว่าจะมีสะพานไม้ไผ่อยู่ก็ตาม" พ.อ.สนิธชนก กล่าวยืนยัน
...................................
(หมายเหตุ : ‘พล.ร.9’ช่วยชาวสังขละฯ ฟื้นตำนาน‘สะพานมอญ’ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)