คอลัมนิสต์

หัวใจปฏิรูปชาติคือประชาชน

หัวใจปฏิรูปชาติคือประชาชน

15 ก.ย. 2557

หัวใจปฏิรูปชาติคือประชาชน : ขยายปมร้อน

               นับถอยหลังจากวันนี้ ไม่เกิน 20 วัน ประเทศไทยจะมีคณะบุคคล 1 กลุ่ม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกให้เป็นสถาปนิกสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคง นั่นก็คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

               สมาชิก สปช.ทั้ง 11 ด้าน มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. และคณะกรรมการสรรหาจังหวัด ที่ประกอบด้วยข้าราชการปกครองและศาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพลิกแฟ้มประวัติของบุคคลที่ทั้งได้รับการเสนอชื่อ รวมกว่า 7,370 รายชื่อ เพื่อให้เหลือ 385 คน ในส่วนของจังหวัด และ 550 คน จากกลุ่มปฏิรูป 11 ด้าน ด้านละไม่เกิน 50 คน จากนั้น “คสช.” เลือก The Best เข้าทำหน้าที่ร่วมออกแบบ-กำหนดโครงสร้างประชาธิปไตยยุคใหม่แบบไทยๆ จำนวน 250 คน

                ต้องยอมรับว่า ในกระบวนการเฟ้นหา “ว่าที่สถาปนิกประชาธิปไตย” ล้วนอยู่ในการกำกับของคณะผู้นำและเครือข่าย คสช. นับตั้งแต่การกำหนดตัวคณะกรรมการสรรหา จนถึงการจัดสถานที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา 11 ด้าน ไว้ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายในกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งมีประธานมูลนิธิชื่อว่า "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ"

               แม้ว่าห้องประชุมที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จะสะดวกต่อการเดินทาง มีสถานที่รองรับการจัดประชุมคณะใหญ่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของประธานที่ปรึกษา คสช.ได้สร้างความสงสัยให้แก่ภาคสังคมต่อกระบวนการคัดสรรที่โปร่งใส ว่า ภายใต้เขตทหารที่ทหารดูแลอย่างแน่นหนา จะไม่มีผู้สมัคร สปช.คนใดได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษให้ร่วมวงสรรหาด้วย

               จากหน้าที่และบทบาท การปฏิรูปประเทศของ “ว่าที่ สปช.” ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสามารถกำหนดโครงสร้างอำนาจและโครงการการเมืองไทยได้ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ของกลุ่มคนให้เป็นไปตามกติกาใหม่จะกำหนด

               ในเวทีและรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นพระเอก หลายครั้งได้ระบุถึงความตั้งใจและคาดหวังต่อผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่สถาปนิกประชาธิปไตยไว้สูงมาก แต่การคุมเข้มหรือจัดระเบียบการสรรหา ไม่ให้แตกแถวย่อมเป็นเหมือนค้อนที่รอวันทุบความโปร่งใสที่เปราะบาง เนื่องจากการตรวจสอบไม่เกิดขึ้น

               จากรายการคืนความสุขฯ รอบล่าสุด เมื่อ 12 กันยายน 2557 “นายกรัฐมนตรี” ตอกย้ำถึงความแน่วแน่ในแนวทางการปฏิรูป สรุปคำสำคัญได้ว่า “คนไทยทุกคนต้องช่วยกันเป็นสถาปนิก ช่วยก่อสร้างประเทศชาติกันใหม่ ให้ถาวร และยั่งยืนตลอดไป หากพวกเรา รัฐบาล หรือ คสช. ทำฝ่ายเดียว ไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน อยากให้คนไทย รวมถึงคนที่เห็นต่าง พิจารณาว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยไม่ขัดแย้ง ไม่ก่อความรุนแรง หรือเอาชนะกันด้วยกฎหมาย ด้วยช่องว่างต่างๆ ที่มี” เห็นได้ชัดถึงการให้ความสำคัญกับ “ประชาชน”

               ดังนั้นหากจะให้ประชาชนในวงกว้างไว้วางใจกระบวนการปฏิรูปประเทศ ระยะกลางถึงปลายทาง เหมาะสมหรือไม่ที่จะให้พวกเขาร่วมตรวจสอบ บุคคลที่ผ่านการคัดสรรโดยคณะกรรมการสรรหา หรือร่วมส่งข้อมูลวงในของบุคคลที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ย้ำหลายรอบว่า “ไม่รู้จักใคร” เพื่อให้การปฏิเสธเป็นคำตอบของข่าวลือการจัดทำบัญชี สปช.ไว้ล่วงหน้า

               อย่างน้อย เพื่อให้ “คนไทย” ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการคัดสรรและมั่นใจได้ว่า 250 ชื่อสุดท้ายที่ “คณะ คสช.” จะคัดเลือกเพื่อเข้ามากำหนดอนาคตประเทศนั้น เป็นคนที่มั่นใจและเชื่อใจได้ว่า เขาจะสร้างสุขให้คนไทยได้จริง ไม่ใช่เข้ามาจัดสรรประโยชน์ โดย “ประชาชน” ฐานะเจ้าของประเทศ ทำได้แค่นั่งมองตาปริบๆ