
เดินหน้าปกครองท้องถิ่น
เดินหน้าปกครองท้องถิ่น : บทบรรณาธิการประจำวันที่1 กันยายน 2557
การออกมาเปิดประเด็นว่าด้วยการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ยังผลให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตกเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อสงสัยที่ว่า เกิดการทุจริตโกงกินขึ้นในองค์กรแห่งนี้ เมื่อผนวกรวมเข้ากับประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สรรหาสมาชิกสภาและผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นแทนเลือกตั้งเข้าด้วยแล้ว สังคมจึงจับตากันว่า คสช.กำลังมีแผนที่จะยุบเลิกการปกครองเช่นว่านี้หรือไม่ แต่เมื่อมีคำยืนยันตามมาว่า จะจัดให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาและองค์กรท้องถิ่นในลำดับถัดไปแล้ว ก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า นับจากนี้ อปท.จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
และในห้วงเวลาเดียวกันที่เกิดวิวาทะ มีข้อมูลจากโครงการวิจัยการติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทยระยะ 15 ปี โดย ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาข้อมูลจากการสำรวจและบันทึกผ่าน อปท.ทุกระดับ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 110 แห่ง จาก 72 จังหวัดทั่วประเทศ จากทั้งหมด 7,584 แห่ง และยังได้สำรวจข้อมูลระดับครัวเรือน จำนวน 11,430 ครัวเรือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.0 ยังเห็นว่าควรให้การสนับสนุนงบประมาณ อปท.ต่อไป เพราะ อปท.ทำงานคุ้มค่าเงินภาษี และร้อยละ 75.0 เห็นว่าไม่ควรยุบเลิก อปท. เพราะ อปท.มีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่วนประเด็นการทุจริตนั้น ผู้ศึกษาพบว่า ข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ อปท.ประมาณ 60% แต่มีมูลจริงๆ เพียง 7%
นอกจากนี้ งานสำรวจและวิจัยชิ้นนี้ ได้สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องนับเป็นโจทย์ที่องค์กรท้องถิ่นจะต้องก้าวผ่านไปให้สำเร็จให้ได้ นั่นคือ การเตรียมแผนรับมือกับความเป็นสังคมเมืองในหลายพื้นที่ อันส่งผลให้ปัญหาในระดับพื้นที่มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และภาคประชาสังคมมีความตื่นตัวสูงขึ้น ความต้องการความเป็นธรรมทางสังคมมีมากขึ้น และเชื่อว่า การกระจายอำนาจจะช่วยลดการผูกขาดทางอำนาจของการเมืองในระดับชาติ ขณะเดียวกัน สำหรับแรงกดดันภายนอกก็ยังมีอีกรอบด้าน อย่างเช่น การกระจายอำนาจที่เป็นกระแสสากล ช่วยลดภาระของรัฐบาลในภารกิจพื้นฐาน และเกื้อหนุนให้รัฐบาลทำหน้าที่เชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศมากขึ้น เช่น โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)
มองในแง่บวก ข้อปุจฉาอันว่าด้วย ความโปร่งใสของ อปท.ซึ่งแม้จะจบลงด้วยการทำความเข้าใจระหว่างผู้เปิดประเด็นกับตัวแทนผู้บริหารส่วนท้องถิ่น หากแต่กรณีที่เกิดขึ้นได้ช่วยกระตุ้นสำนึกของสังคมที่แม้ว่าจะเห็นความสำคัญขององค์กรท้องถิ่น และสนับสนุนให้คงอยู่ต่อไป หากแต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องปรับปรุงให้องค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดเหล่านี้ ปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองที่ครอบงำไว้ด้วยระบบอุปถัมภ์ และเดินหน้า จัดการปัญหาที่เป็น "การบ้าน" ดังที่กล่าวมาให้เป็นสังคมที่เป็นธรรมและตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมท้องถิ่นที่กำลังจะเป็นสังคมเมืองในหลายพื้นที่ และพร้อมรับมือกับความสลับซับซ้อนที่กำลังจะเกิดตามมาด้วย