คอลัมนิสต์

กลุ่มทุนกับอนาคตของทอท.

กลุ่มทุนกับอนาคตของทอท.

29 ส.ค. 2557

กลุ่มทุนกับอนาคตของ ทอท. : กระดานความคิด โดยแกร่ง หินเพลิง

               ขณะที่ถนนทุกสายกำลังลุ้นระทึกกับโฉมหน้าของรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา ที่แม้จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่การเมืองไทย เพราะเป็นรัฐบาลชุดแรกที่ขนเอาแม่ทัพนายกองเข้ามานั่งแทบเต็มลำเรือ แต่ก็ดูเหมือนคนไทยจะตั้งความหวังเอาไว้สูงยิ่งกับรัฐบาลชุดนี้

               ดูเหมือนรัฐบาล คสช.กำลังจะประเดิมผลงาน “ชิ้นโบแดง” ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มขับเคลื่อน เมื่อจู่ๆ คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีมติให้ชะลอการดำเนินโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2-3-4 แล้วหันไปก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศแทน ด้วยข้ออ้างประหยัดงบลงทุน

               ทั้งที่แผนแม่บทโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เป็นโครงการใหญ่ระดับชาติ ที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมีการศึกษากันมาเป็นสิบปี ก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติเป็นแผนแม่บทออกมา แต่จู่ๆ บอร์ด ทอท.กลับล้มโครงการที่เป็น “วาระแห่งชาติ” นี้ลงไปดื้อๆ โดยไม่ใส่ใจเลยว่า นั่นกำลังจะทำให้เป้าหมายที่จะผลักดันสนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ในภูมิภาคนี้พังครืน

               ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ถึงการตัดสินใจอย่างปัจจุบันทันด่วนของบอร์ด ทอท.ในครั้งนี้ว่า เกิดอะไรขึ้น?

               ไม่เพียงแต่แผนแม่บทสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2-3-4 จะถูก “ปิดประตูลั่นดาล” ลงไป ยังมีอีกหลายโครงการของ ทอท.ที่ฝ่ายบริหาร ทอท.ได้ร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรเอาไว้ แต่มีแนวโน้มที่จะถูกบอร์ด ทอท.ชุดนี้ทบทวน และทำให้เข้าใจได้ดีว่า เหตุใดนายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ถึงได้ลาออกจากตำแหน่งในช่วงก่อนหน้านี้

               เพราะนอกจากการขยายศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2-3-4 ที่ต้องมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่และอาคารเทียบเครื่องบิน การก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 แล้วที่จะทำให้ศักยภาพของสนามบินแห่งนี้ผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค แล้วยังมีโครงการสำคัญๆ ที่จะพลิกโฉมหน้ากิจการ ทอท. ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เมืองสนามบิน” และโดยเฉพาะการจัดตั้งปิกอัพเคาน์เตอร์ (Pickup Counter) ในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอื่นๆ ของ ทอท.อีกด้วย

               มีคนมองว่า โครงการที่ว่านี้ล้วนเป็น “หนามยอกอก” ที่ส่งผลกระทบต่อขุมทรัพย์กลุ่มทุนผลประโยชน์ที่ผูกขาดสัมปทานในสนามบินสุวรรณภูมิ

               ยิ่งในส่วนของโครงการจัดตั้งเมืองสนามบิน ที่ ทอท.จะประเดิมจัดตั้งขึ้นที่สนามบินดอนเมือง ขนาบด้วยรถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงฝั่งถนนวิภาวดีฯ และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ฝั่งถนนพหลโยธิน ซึ่งจะนำเอาผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว และลูกค้าเรือนหมื่นเรือนแสนมาป้อนให้ถึงที่แล้ว จะทำให้เมืองสนามบินแย่งลูกค้าไปจากอ้อมอกกลุ่มทุนผลประโยชน์กลุ่มนี้มากแค่ไหน?

               นอกจากนี้ยังมีโครงการปิกอัพเคาน์เตอร์ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการเปิดเสรีร้านปลอดภาษีและการเปิดเสรีเออีซีในอนาคต จากปัจจุบันที่มีกลุ่มทุนรายเดียวที่ไม่มีใครบอกได้ว่า ได้สัมปทานมาจากหน่วยงานใด? หรือเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีการเปิดเสรีร้านปลอดภาษีในเมือง ทั้งที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็มีกันไปหมดแล้ว

               น่าแปลกไหม! ขณะที่รัฐและ ทอท.ต้องลงทุนลงแรงไปกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และสนามบินอื่นๆ ที่ใช้เม็ดเงินภาษีไปนับแสนล้านบาท กว่าที่ ทอท.จะบริหารให้มีกำไรได้สัก 8,000-10,000 ล้านบาทได้นั้น เรียกได้ว่า เลือดตาแทบกระเด็น

               เทียบไม่ได้เลยกับกำไรของกลุ่มทุนที่ได้สัมปทานพื้นที่ทำธุรกิจในสนามบินสุวรรณภูมิ กลับสามารถสร้างกำไรได้ปีละนับหมื่นล้านบาท จนน่าเชื่อว่า กว่าจะหมดอายุสัมปทานคงกวาดเม็ดเงินไปได้อีกมากโข

               จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ตกลงแล้วบอร์ด ทอท.ที่หลายฝ่ายตั้งข้อกังขากันมาตลอดว่าเป็นตัวแทนที่ผู้ถือหุ้นคือกระทรวงการคลังส่งมานั้นจริงแล้วหรือ ?

               จะว่าไปก็น่าเห็นใจพนักงาน ทอท.ที่มองออกไปข้างนอกก็เจอกับการบินไทย ที่กำลังเข้ามาเคาะประตูขอความช่วยเหลือ แต่พอหันมาดูภายในก็ได้แต่ถอนหายใจกับอนาคตขององค์กรที่ดูเหมือนจะพลิกไปพลิกมา สับสนไปหมดว่า อะไรคือหลัก อะไรคือรอง และอะไรคือ "วาระแห่งชาติ"