สปช.ตอบโจทย์อปท. : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2557
วิวาทะร้อน สืบเนื่องจากข้อสังเกตเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่งใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นบางคนนั่งเครื่องบินเฟิร์สคลาส ดื่มไวน์ขวดละแสน ซื้อบ้านพักตากอากาศในต่างประเทศ ในความเห็นของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นำเสนอผ่านเฟซบุ๊ก สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ออกมาแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ ทั้งด้วยวาจาผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และการแสดงออกด้วยการนำพนักงาน ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่งกายชุดดำประท้วง เพราะเห็นว่าคำกล่าวพาดพิงของ ม.ล.ปนัดดา เป็นการทำลายภาพลักษณ์องค์กรโดยรวม อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังอยู่ภายใต้การดูแลและตรวจสอบขององค์กรอิสระ สภาท้องถิ่น นายอำเภอ และผู้ว่าราชกาจังหวัดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ ม.ล.ปนัดดา ผู้กำลังตกเป็นเป้าการตอบโต้ครั้งนี้ จะบอกว่า ไม่ได้หมายรวมถึงผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เป็นการยกตัวอย่างจากเพียงบางคนเท่านั้น และต้องขออภัยที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจกันขึ้น แต่ก็ยังคงยืนยันในหลักการของเขาว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์ควรจะต้องคุ้มค่า ซึ่งถ้าหากเป็นดังเช่นที่ ม.ล.ปนัดดา ตั้งข้อสังเกตเอาไว้จริงๆ ก็นับเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบอย่างเข้มข้นของการบริหาร และการกระจายอำนาจ ภายใต้หลักการปกครองตนเอง อันมีความเป็นประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาลไปพร้อมกันด้วย ขณะเดียวกันก็มีประเด็นเกี่ยวเนื่องขึ้นมาเกือบจะพร้อมกัน คือ ผลจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำให้เกิดปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปดูแลงานส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในลักษณะล็อกสเปก และผูกขาดอำนาจ
มองในอีกแง่หนึ่ง วิวาทะระหว่างปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ก็คือตัวแทนความขัดแย้งที่ถูกซุกเอาไว้ หลังจาก คสช.พยายามเข้ามา "จัดระเบียบ" องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ ด้วยการออกคำสั่งเว้นวรรคการเลือกตั้งเอาไว้เป็นการชั่วคราว หากแต่สิ่งที่กำลังตามมาขณะนี้ก็คือ ข้อครหาที่ว่า คสช.กำลังจะทำลายหลักการกระจายอำนาจ และการปกครองตนเองลง โดยใช้ระบบข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่บริหารท้องถิ่นแทน ซึ่งย้อนยุค ถอยหลังเข้าคลอง เมื่อเกิดกรณีวิวาทะขึ้น ความอืมครึมและไม่ไว้วางใจกันและกันย่อมเป็นผลตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อ คสช.เอง เพราะสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไปแล้ว แนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติอาจจะพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย
กระนั้น ถ้าหากจะมองในแง่ดี แทนที่จะปล่อยให้วิวาทะที่เกิดขึ้นเป็นฟางเส้นสุดท้าย จนความขัดแย้งลุกลามบานปลายออกไป กรณีนี้ควรจะนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการกระจายอำนาจการปกครอง และให้องค์กรเหล่านั้นเป็นตัวแทนของการปกครองตนเองอย่างแท้จริง มิใช่เครือข่ายของการเมืองระดับชาติ ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นกับการรวบรวมประเด็น สานเสวนาทุกฝ่ายในนามของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นในอนาคตสามารถตอบโจทย์ของประชาชน มีอิสระในการบริหารงาน และโปร่งใสตรวจสอบได้ ดังเช่นคำยืนยันของผู้บริหาร อปท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง