คอลัมนิสต์

ภาษีมรดกบททดสอบสนช.

ภาษีมรดกบททดสอบสนช.

25 ส.ค. 2557

ภาษีมรดกบททดสอบสนช. : บทบรรณาธิการฉบับวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2557

               มีความเคลื่อนไหวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่น่าสนใจและชวนติดตามต่อเป็นอย่างยิ่ง สำหรับนโยบายการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งก่อนหน้านี้ คสช.จะออกเป็นคำสั่ง แต่เปลี่ยนใจเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทน เพราะเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และรายได้จากสัมปทานของรัฐ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ได้มาตรฐาน และเกิดความเป็นธรรม โดยกรมสรรพากร คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจัดเก็บภาษีมรดก ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ ไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา

               ทั้งนี้ แนวคิดจัดเก็บภาษีมรดกได้ปรับปรุงจากแนวทางเดิมที่เคยศึกษาเอาไว้ที่จะเก็บภาษีจาก "กองมรดก" พร้อมกับภาษีการให้ มาเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้รับมรดกแทน โดยเก็บภาษีการรับมรดกที่เป็นทรัพย์สินต่อจากผู้ตายในกรณีที่ไม่ได้โอนก่อนตาย และเก็บภาษีการรับให้ หรือผู้ตายได้โอนทรัพย์สินให้ผู้รับมรดกในช่วง 2 ปีก่อนตาย สำหรับอัตราภาษีตามผลการศึกษา ทรัพย์มรดกสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะไม่เรียกเก็บ ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท จัดเก็บ 10% และทรัพย์มรดกสุทธิตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บ 20% สำหรับภาษีการรับให้ ทรัพย์สินสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท จัดเก็บ 10% ตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 20% ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า การจัดเก็บภาษีการรับมรดก ประชาชนมองในแง่ดีมากกว่าการจัดเก็บจากกองมรดก เพราะเห็นว่าไม่เป็นการเรียกเก็บซ้ำซ้อน เพราะการรับมรดกจะเรียกเก็บเมื่อได้มรดกถึงเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น

               อย่างไรก็ตาม แม้การจัดเก็บภาษีมรดกจะไม่สามารถส่งรายได้เข้ารัฐได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่จะเน้นหลักการของความเป็นธรรมและการกระจายรายได้เป็นหลัก หากแต่การพิจารณาผ่านกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สังเกตจากท่าทีของ คสช.เอง ที่ยังเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทบประชาชน จึงเลือกที่จะส่งให้ สนช.พิจารณาแทนการออกเป็นประกาศหรือคำสั่ง ทั้งที่มีอำนาจอยู่เต็ม และในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องภาษีมรดกขึ้นมาพิจารณา ทั้งๆ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ศึกษาไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังมีเสียงเรียกร้องให้เก็บภาษีมรดกอีกต่างหาก

               เมื่อร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ถูกนำเสนอ สนช. และคาดหมายว่า เรื่องนี้จะเป็นวาระแรกๆ ที่ สนช.จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณา จึงถือเป็น "เรื่องร้อน" ที่สภาแห่งนี้จะได้แสดงออกให้เห็นถึงเจตนาที่ทั้ง คสช.และ สนช.ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้จะได้เม็ดเงินเข้าคลังไม่มากเหมือนที่หลายฝ่ายคาดหวัง อีกทั้งบรรดาคนร่ำรวยทั้งหลายยังจะหาวิธีในการหลบเลี่ยงภาษีได้อีกสารพัดก็ตาม แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะเป็นเครื่องแสดงเจตนาที่แท้จริงว่า การรัฐประหารครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยในหลายๆ ด้านพร้อมกัน