คอลัมนิสต์

ภารกิจสำคัญ'นายกฯ คนที่29'

ภารกิจสำคัญ'นายกฯ คนที่29'

21 ส.ค. 2557

ภารกิจสำคัญ'นายกฯ คนที่ 29' : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2557

                สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีกำหนดเข้าร่วมประชุมครั้งที่ 3 ในวันที่ 21 สิงหาคม โดยมีวาระเร่งด่วนพิจารณาคือ การพิจารณาผู้ที่สมควรได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 นั่นเท่ากับว่าในวันนี้จะได้ชื่อนายกฯ ซึ่งก็คงเป็นไปตามความคาดหมายอย่างที่ทราบกันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้รับการโหวตเป็นนายกฯ คนที่ 29 ของประเทศอย่างแน่นอน และเป็นการเข้ามาดำรงตำแหน่งตามที่โพลล์หลายสำนักสำรวจความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศต่างก็สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามานั่งเป็นผู้นำรัฐบาล เพื่อสานต่อภารกิจสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้ "เสียของ" จากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

                เมื่อพิจารณาภารกิจของนายกฯ คนที่ 29 มีหลายประการที่มีความสำคัญต่อประเทศและคนไทยทั้งชาติ และถือเป็นภาระหนักบนบ่าของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ว่าได้ ประการแรก คือเรื่องการสร้างความปรองดองของคนในชาติ แม้ว่าปัจจุบันหลังการเข้ามาควบคุมการปกครองประเทศเมื่อ 22 พฤษภาคม ได้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว แม้สถานการณ์จะดูนิ่งสงบ แต่ทุกฝ่ายก็ทราบดีว่าคลื่นใต้น้ำยังมีอยู่ เห็นได้จากการโปรยใบปลิวต่อต้าน คสช. หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในโลกออนไลน์ ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำจะต้องบริหารประเทศท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติ เพื่อนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายความปรองดอง แม้จะเป็นเพียงก้าวเริ่มต้นก็ยังดี เพราะรู้กันอยู่ว่าต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บจะหันมาเลิกขัดแย้งได้ง่ายๆ เพียงชั่วข้ามคืน

                ภาระสำคัญอีกประการ คือการปฏิรูปประเทศ เพราะห้วงเวลาที่ผ่านมาได้ติดอยู่ในกับดักความขัดแย้ง และการใช้อำนาจที่ขาดธรรมาภิบาล เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมโหฬาร สิ่งที่ต้องสางปัญหาที่หมักหมมมานานเป็นเรื่องที่กระทำยากพอควร แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้ได้ ดังนั้นภารกิจการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจและการถ่วงดุลการบริหาร ปฏิรูปการเมือง เป็นภาระของผู้นำควบคู่กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่จะต้องนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่ดีขึ้น ท่ามกลางการจับจ้องจากฝ่ายที่เสียประโยชน์และพร้อมจะเตะสกัด จึงเป็นเรื่องที่จะต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีความร่วมมือร่วมใจในการเดินหน้าปฏิรูปไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ

                ในฐานะนายกฯ และผู้นำรัฐบาล ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้คาดว่าไม่น่าเกิน 2-3% บางแห่งอาจคาดการณ์ว่าสูงกว่า 4% แต่ในปีหน้าเป็นความท้าทายของนายกฯ และรัฐบาลรวมทั้งทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจว่าจะสามารถแสดงฝีมือกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีแค่ไหน อีกทั้งต้องปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้กลุ่มคนด้อยโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนมีความสามารถในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ และจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งภารกิจสำคัญเหล่านี้ต้องตกเป็นภาระของผู้นำรัฐบาล ที่ต้องฝ่าฟันและทุ่มเทการทำงานต้องกล้าตัดสินใจอย่าคิดแค่เป็นนายกฯ ขัดตาทัพเพราะจะทำให้ "เสียของ" ได้