
เวียดนามล้ำหน้าอาเซียน
เวียดนามล้ำหน้าอาเซียน : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร
กรุงฮานอย-ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ได้มาเปิดสาขาในนครหลวงอันเก่าแก่นี้ เมื่อสองอาทิตย์ก่อน เด็กหนุ่มสาวตื่นเต้นมาก มันคือดรรชนีโลกชี้ให้เห็นว่า เมืองหลวงอันเก่าแก่นี้ได้เข้าอยู่ในระดับสากลเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้จะล้าหลังกว่าเมืองโฮจิมินห์ที่ได้เปิดบริการเมื่อต้นกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
พูดถึงวัฒนธรรมดื่มกาแฟเวียดนาม ภายในอาเซียนต้องยกนิ้วให้คนที่นี่ มีร้านดื่มกาแฟตั้งอยู่ทุกซอกทุกมุมเมือง มีโต๊ะพลาสติกเล็กๆ เก้าอี้พลาสติกเล็กๆ แบบที่เห็นในโรงเตี๊ยมจีนในสมัยก่อน เต็มข้างถนนไปหมด คนเวียดนามชอบดื่มกาแฟเข้มข้น หรือที่ฝรั่งชอบเรียกว่า เอสเพรสโซ บ้านเราเรียกสั้นๆ ว่า “โอยัวะ”
พอเวียดนามเปิดบ้านเปิดเมือง วัฒนธรรมดื่มกาแฟรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะกาแฟท้องถิ่นมาจากที่ราบสูงชื่อบันโมยเตียต ตั้งอยู่ในใจกลางประเทศ ปลุกกาแฟอาราบิกาอันลือชื่อ เป็นที่มาของบริษัทกาแฟดังเวียดนาม “จรุงเหงียน” ที่ออกมาสู้กับกาแฟฝรั่ง บริษัทนี้มีกาแฟสำเร็จยี่ห้อ “จีเจ็ด” วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้านเราด้วย หนุ่มสาวเวียดนามมีสตังค์ดื่มกาแฟสตาร์บัคส์ถ้วยละ 90 ถึง 120 บาท แพงกว่ากาแฟพื้นบ้านถึงสองเท่า
ธุรกิจกาแฟเวียดนามเป็นหน้าต่างธุรกิจประเภทหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจถึงความพยายามของประเทศนี้ในการนำพาเศรษฐกิจที่เคยเป็นภาครัฐล้วนๆ สู่กระบวนการของกระแสโลกาภิวัตน์ เนื่องจากเป็นประเทศปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ บางครั้งคนไทยมาเที่ยวที่นี่ลืมไปว่าเวียดนามเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มีพรรคเดียวครองอำนาจมาตลอด ต่างจากการเมืองไทย มีพรรคการเมืองมากมาย
ในเวลานี้ เวียดนามได้กลายเป็นสมาชิกหลักของอาเซียนและยังเป็นพลังขับเคลื่อนให้สมาชิกใหม่อาเซียนคือ ลาว กัมพูชา และพม่า อีกด้วย เวียดนามรู้ตัวดีว่าจะเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจต้องปรับอย่างมาก ที่ผ่านมาต้องชมเวียดนาม กล้าตัดสินในเรื่องธุรกิจการค้าการลงทุนต่างประเทศ ตัวอย่างชัดเจนคือการเข้าเป็นสมาชิกของกรอบการค้าแปซิฟิก หรือ ทีพีพี (Trans Pacific Partnership)
ขนาดเมืองไทยยังไม่ยอมเข้าร่วมเจรจาทีพีพีเพราะกลัวเสียเปรียบ สองปีก่อนไทยบอกสหรัฐอเมริกาว่าสนใจอยากร่วมเจรจาด้วย เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกาชักจูงให้ประธานาธิบดีโอบามามาไทย ตอนนี้ไทยไม่ได้ความสนใจทีพีพี แต่ให้ความสำคัญต่อกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจแบบบูรณาการ หรืออาร์ซีอีพี (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่มีอาเซียนเจรจากับคู่เจรจาทั้งหกคือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
เวียดนามต้องการสร้างเส้นทางโลจิสติกส์เข้าเครือข่ายเส้นทางการผลิตในอาเซียน ซึ่งมีไทยเป็นจุดศูนย์กลาง ต้องสร้างถนนหนทาง สนามบิน และท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน ตอนนี้สนามบินนอยไบกำลังขยายรันเวย์และพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนั้นเวียดนามอยากสร้างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งมีประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา การเมืองไทยไม่เสถียรทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นพยายามหาทำเลใหม่ ในประเด็นนี้เวียดนามได้สนับสนุนเครือข่ายอาเซียนอย่างเต็มที่ พยายามดึงเอาบริษัทโลจิสติกส์ของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนแทน เวียดนามลงทุนสร้างถนนเชื่อมโยงลาวและกัมพูชาเพื่อช่วยขนถ่ายสินค้าเข้าออกทางท่าเรือแหลมฉบัง
เวียดนามเห็นความสำคัญอาเซียนในทุกๆ ด้าน จึงไม่แปลก ผู้นำเวียดนามเชิดชูอาเซียนมาก บางครั้งมากไปด้วยซ้ำไป เวียดนามรู้ดีว่าอาเซียนเข้มแข็งมีพลังมีประโยชน์มากต่อการสร้างอำนาจต่อรองเวียดนาม เวลาเข้าหาจีน โดยเฉพาะในประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งต่างจากท่าทีฟิลิปปินส์ที่มักเห็นว่าอาเซียนไม่มีคุณค่า ไปซบไล่สหรัฐอเมริกาดีกว่า
ที่สถาบันการทูตเวียดนามภายใต้การดูแลของกระทรวงต่างประเทศเวียดนาม ทุกๆ ปีนักเรียนเข้ามาศึกษาเพื่อเป็นนักการทูตกว่าสองพันคน ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับอาเซียน ทำให้เวียดนามมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองภูมิภาคเป็นจำนวนมาก
ประวัติศาสตร์เวียดนามเต็มไปด้วยการต่อสู้กับต่างประเทศ จึงไม่แปลกที่คนในประเทศนี้สนใจข่าวต่างประเทศและเข้าใจแนวโน้มของโลก ในปัจจุบันมีนักข่าวเวียดนามจากสื่อมวลชนหลากชนิดประจำไทยสิบกว่าคน ในขณะที่ไม่มีนักข่าวไทยประจำเวียดนามแม้แต่คนเดียว (ในปี 1988 เดอะเนชั่นส่งผู้เขียนไปประจำกรุงฮานอย เป็นนักข่าวคนแรกของอาเซียนที่ไปประจำการ เนื่องจากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของอดีตนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมามีนักข่าวเพิ่มขึ้นจากหลายสำนัก แต่ตอนหลังต้องถอนตัวหมดเพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย)