คอลัมนิสต์

เหมือนชายหาดมีเจ้าของ

เหมือนชายหาดมีเจ้าของ

19 ส.ค. 2557

เหมือนชายหาดมีเจ้าของ : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2557

               มีความจริงอันประจักษ์เกี่ยวเนื่องกับทะเลและชายหาดอยู่มากมายว่าด้วยการแย่งชิงพื้นที่ทรัพยากรทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะในฐานะของพื้นที่สาธารณะ และเขตอนุรักษ์ หรือเขตอุทยานก็ตาม แม้แต่ละฝ่ายจะไม่ได้ใช้ความรุนแรง หยิบเอาอาวุธเข้าประหัตประหารกันและกัน หากแต่ความได้เปรียบในนามของการพัฒนาและการดำเนินการทางธุรกิจ และการรุกคืบของทุน ดูเหมือนได้ผลักให้ผู้ที่อ่อนแอกว่าต้องตกอยู่ในสถานะของผู้บุกรุกไปโดยปริยาย ความพยายามแย่งชิงพื้นที่ด้วยการเข้าไปถือครองบริเวณชายหาด ยิ่งนานวันยิ่งจะเป็นกรณียากแก่การประนีประนอม ในเมื่อพวกเขาที่ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ก็อ้างความจำเป็นแห่งการยังชีพเข้าถือครองเสมือนเป็นเจ้าของไปเอง

               ถึงแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการตามแผน "จัดระเบียบ" ชายหาดหลายแห่ง ทั้งที่ จ.ภูเก็ต และชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หากแต่แผนนั้นคงจะไม่ได้รับเสียงตอบรับเท่าที่ควร ถ้าหากไม่มีฟางเส้นสุดท้ายกรณีเมนูราคา 3,000-7,000 บาท เกิดขึ้นที่ชายหาดหัวหิน เป็นตัวกระตุ้น เรียกเสียงสนับสนุนจากภาคสังคมที่พากันเพ่งมองไปยังผู้ประกอบการชายหาดเสมือนเป็นผู้ร้าย การแก้ปัญหาก็อาจจะล่าช้าออกไป จนไม่เกิดการประชุมร้านค้าบริเวณชายหาดหัวหิน 22 ราย เพียงชั่วข้ามคืน โดยที่ประชุมระบุว่า หากผู้ค้าไม่ร่วมมือขายอาหารตามราคาแนะนำก็จะไล่ผู้ประกอบการออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ให้จัดระเบียบเพื่อความเรียบร้อยสวยงาม ตามข้อตกลงเดิมเมื่อปี 2534 โดยกำหนดพื้นที่การค้าขาย ทางเดิน และระยะห่างต่างๆ เอาไว้ชัดเจน สำหรับร้านที่รุกล้ำได้เริ่มต้นรื้อเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา และวันที่ 23 สิงหาคม จะปักหมุดวางแผงร้านค้า กำหนดวันหยุด เพื่อ "คืนธรรมชาติให้หาดหัวหิน"

               เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชายหาดหัวหิน ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ ค่าอาหารแพง กับ การรุกล้ำชายหาด ซึ่งมีมานานแล้ว คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 อำภอใน จ.ภูเก็ต และชายหาดบางแสน ที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแก้ปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องแรกนั้น ผู้ค้าอ้างว่า ได้ติดป้ายบอกราคาเอาไว้แล้ว แต่ผู้บริโภคคงไม่ทันสังเกต ขณะเดียวกัน ต้นทุนสินค้าอาหารก็สูงขึ้นด้วย ซึ่งการค้าภายในจังหวัดแก้ปัญหาด้วยการตั้งราคาแนะนำและให้ติดป้ายราคาไปแล้ว แต่สำหรับกรณีรุกล้ำชายหาดนั้น ค่อนข้างจะสลับซับซ้อนมากกว่า เพราะมีความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่ "รักสบาย" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในท้องถิ่น และใกล้เคียง อย่างเช่น ที่ชายหาดชะอำ ดูเหมือนจะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากกว่า จึงไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีปมน่าเป็นห่วงคือ เมื่อสถานที่พักย่านนั้นขยายตัว ต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้ถวิลหาสุนทรียรสจากทะเลมากขึ้น ผู้ค้าเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสิ่งรกหูรกตาในอนาคตอันใกล้

               ชายหาดทุกแห่งล้วนเป็นพื้นที่สาธารณะอันยังประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายได้ในลักษณะการใช้สอยต่างๆ ไม่มีใครคนใดสามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้เพียงลำพัง หากแต่ความเป็นสมบัติร่วมกันนี้เอง ย่อมมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้อง "จัดระเบียบ" ให้อยู่ภายใต้กติกาเดียวกันอย่างเป็นธรรม ไม่เฉพาะแต่พ่อค้าแม่ขายในพื้นที่ ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวด้านต่างๆ เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะต้องรู้จักถนอมรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเอาไว้ ด้วยการลดละเลิกความสะดวกสบายอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาจนสร้างวัฒนธรรมรกตาขึ้นบริเวณหาด