คอลัมนิสต์

ล็อกสเปกไทยใหม่

ล็อกสเปกไทยใหม่

18 ส.ค. 2557

ล็อกสเปกไทยใหม่ : ขยายปมร้อน โดย ขนิษฐา เทพจรสำนักข่าวเนชั่น

                ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เขียนคอลัมน์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยระบุว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็น สภาพี่สภาน้องกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะมีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูป คือ การเสนอแนวทางและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ “ชง” มาให้พิจารณา

                นัยสำคัญเพื่อบอกเล่า พร้อมกระตุ้น “ไทยเฉย” ตื่นตัวร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์การเมือง

                แต่ในรหัสความสัมพันธ์แห่งอำนาจ ที่เป็นหัวใจของระบอบปกครอง กลับสะท้อนทิศทางของการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็น New Thailand ได้ว่า ทั้งหมดถูกเชื่อมโยง-ล็อกสเปกไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

                สิ่งที่สะท้อนถึงการควบคุมทิศทางปฏิรูปประเทศนั้น สาระใหญ่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ทั้งกรอบการทำงาน ตามแผน 3 ระยะ และวางผลสำเร็จของงานตามกรอบ อาทิ สปช.ต้องศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบเลือกตั้งที่สุจริตเป็นธรรม มีกลไกป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น, คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามพิมพ์เขียว 10 ด้าน

                เมื่อสาระหลักวางไว้เช่นนั้น บุคลากรที่เป็นเครื่องจักรนำไปสู่เป้าหมายจึงต้องใช้คนที่ไว้วางใจ-สั่งได้-เห็นต่างอย่างมีเหตุผลแต่ไม่ขัดแย้ง ส่วนแรก คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีภาพเป็นสภานายทหาร, ส่วนสอง คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการคัดสรรบุคคลเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้ง เมื่อรายชื่อกรรมการปรากฏต่อสาธารณะ ยืนยันภาพในจินตนาการได้แจ่มชัดว่า สปช.ย่อมเป็นสภาที่มีเงาทับซ้อนกับ สนช.เป็นแน่แท้ เพราะกรรมการส่วนใหญ่ถือเป็นโครงข่ายเดียวกับ คสช. ดังนั้นผลของการคัดตัวรอบแรก จึงเชื่อได้ว่าจะได้บุคคลที่มีแนวคิด-มีโจทย์เพื่อไขปัญหาตามแบบฉบับที่ คสช.วางพิมพ์เขียวไว้ให้

                โดยเหตุแห่งสมมุติฐานข้างต้น “นักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระกูล มีชัย” วิเคราะห์ว่า ตัวของกรรมการสรรหา สปช.ทำให้เห็นคำตอบว่า คนที่จะได้รับตำแหน่ง สปช.ต้องไม่ใช่คนที่มีแนวคิดไม่ตรงกับหลักการของ คสช. และไม่ใช่คนที่สนับสนุนกลุ่มที่ถูกโค่นอำนาจ ด้วยเหตุผลเพื่อรักษากระบวนความคิดให้ตอบโจทย์การสร้างประชาธิปไตยแบบไทย ที่เหมาะกับสภาพสังคมไทย ตามที่ มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวบัญญัติ ดังนั้นว่าที่ สปช.ต้องเป็นคนที่ยอมรับกรอบที่ถูกวางไว้แล้ว และเข้ามาคิดหาวิธีตอบโจทย์นั้นให้ได้ โดยไม่หักล้างโจทย์ที่เขากำหนดไว้แล้ว

                ทำให้บทบาท สปช.ในสายตาของ “อ.ตระกูล” ฉายภาพเป็นเพียงเวทีระดมความเห็น รับฟังข้อเสนอบางประเด็นที่ผู้มีอำนาจให้โอกาส เพื่อระบายความระอุของความคิดที่ถูกปิดกั้นซึ่งรอวันปะทุ และเสมือนเป็นผู้กรองแนวความคิด ก่อนส่งต่อไปยัง สนช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาปฏิรูปไม่สามารถสร้างผลผลิตที่นำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงได้

                “ผมมองว่า โจทย์ใหญ่ที่ต้องการปรับโฉมประชาธิปไตยให้เหมาะสภาพสังคมไทย ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีใดอธิบายความเป็นไทยไว้ชัดเจน ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ที่กลุ่มผู้มีอำนาจจะเปิดใจรับฟังเสียงของคนไทยที่ออกมาวิจารณ์การทำงานและเสนอแนะด้วยใจบริสุทธิ์ ปราศจากการอิงอยู่บนผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อร่วมออกแบบและวางทิศทางประเทศไทยใหม่ไปพร้อมกัน” อ.ตระกูล กล่าวทิ้งท้าย