คอลัมนิสต์

เก้าอี้'ขุนทัพ'ได้มาไม่ใช่เพราะโชคช่วย

เก้าอี้'ขุนทัพ'ได้มาไม่ใช่เพราะโชคช่วย

14 ส.ค. 2557

เก้าอี้'ขุนทัพ'ได้มาไม่ใช่เพราะโชคช่วย : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

                 สิ้นเดือนสิงหาคมนี้คงรู้กันแล้วว่า “นายกรัฐมนตรีคนที่ 29” จะเป็นไปตามคาดที่หลายสำนักออกมาฟันธงก่อนหน้านี้ว่า ไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนบริหารประเทศ ซึ่งตำแหน่ง ครม. ก็คงหนีไม่พ้นสมาชิก คสช. ที่จะตบเท้าเข้ามารับตำแหน่ง

                 ไล่กันตั้งแต่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หรือแม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ก็มีชื่อติดโผในตำแหน่งคณะรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน

                 แต่สิ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี คือโผทหาร ที่จะมีการหารือรอบสุดท้ายของ ผบ.เหล่าทัพ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งการพิจารณาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งหลักในยุคที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นปกติ จึงทำให้การพิจารณาค่อนข้างพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ

                 เพราะคนที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ที่จะต้องคุมเกม “ให้ได้และให้อยู่” เพื่อเป็นฐานที่มั่นในการทำงานให้แก่ คสช. และรัฐบาล แม้เปอร์เซ็นต์การ “ปฏิวัติซ้อน” จะมีโอกาสเป็นไปได้น้อย หรือเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเทียบกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา “คสช.-กองทัพ” เอาอยู่ แม้ว่าจะมีแรงกระเพื่อมบ้างก็ตาม

                 สำหรับกฎเกณฑ์ในการพิจารณา นอกเหนือจากความรู้ ความสามารถและความอาวุโส แล้วยังมีภารกิจ ที่ คสช.มอบหมายให้นายทหารเข้าไปกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ หากภารกิจ “สอบผ่าน” ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะเท่าที่ตรวจแถวกองทัพในขณะนี้พบว่ามีหลายคนที่ได้ดิบได้ดีจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา

                 เริ่มตั้งแต่การจัดแถวเข้าไปทำหน้าที่ในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ว่าจะเป็นทหารที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ทหารที่จะเกษียณปลายเดือนกันยายนนี้ หรือแม้แต่นายทหารที่ยังรับราชการอยู่ จึงทำให้ถูกจับตามองว่าเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดทำโผทหารประจำปี 2557 คงหนีไม่พ้นเหล่าทหารที่เป็นลอตเดิมนี้ จะเข้าไปคั่วในตำแหน่งหลัก เพราะต่างก็รู้มือกันดีแล้ว

                 สำหรับตำแหน่งที่น่าจับตามองอย่างมากคือ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ที่ขณะนี้ค่อนข้างแน่นอนแบบนอนมาเลยคงไม่พ้น พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการ คสช. ที่จะขึ้นมาผงาดในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ขยับขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก โดยอาจจะควบตำแหน่งสำคัญคือ รมว.ยุติธรรม

                 ส่วนคนที่จะเข้ามาอยู่ในไลน์ 5 เสือ ทบ. คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะขยับให้ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ที่มีผลงานโดดเด่นในการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์ รถตู้และรถแท็กซี่ ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก คู่กับ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ที่ไม่ได้เป็นเพียงน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงผลงานโดดเด่นในการสลายกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคเหนือให้กลับใจมาร่วมกันแก้ไขปัญหา

                 ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผบ.ทบ. ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ จะขยับขึ้นเป็นประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (อัตราจอมพล) โดยอาจจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีอีก 1 ตำแหน่ง ส่วนจะคุมกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คงต้องลุ้นกันอีกยก

                 ส่วน พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง และการต่างประเทศ มีแนวโน้มสูงที่ไปนั่งในตำแหน่ง รอง ผบ.ทสส.

                 จากนั้นขยับให้ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก (ตท.14) รองหัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา มาเป็นเสนาธิการทหารบก เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการให้แก่ ผบ.ทบ.คนใหม่ ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.14

                 ขณะที่ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ (ตท.16) และผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ที่ถือว่ามีผลงานเข้าตาไม่น้อย ค่อนข้างชัดว่า ขยับขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 ส่วน พล.ต.ปราการ ชลยุทธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 (ตท.15) กลับมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 หลังจากลงไปช่วยงานมากว่า 2 ปี

                 ส่วนตำแหน่งอื่นๆ คงจะต้องจับตาดูอีกครั้งว่า จะมีการขยับมากน้อยเพียงใด ไม่เพียงเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล แต่หมายรวมไปถึงนายทหารระดับผู้บังคับการกรมที่อาจจะถูกวางให้มาทำหน้าที่หลักในช่วงเปลี่ยนถ่ายของบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสมดุลกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ต้องการความเข้มแข็งและความสมานฉันท์