
'ประยุทธ์'เอาอยู่?
'ประยุทธ์'เอาอยู่? : ขยายปมร้อน สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ
วันที่ 14 สิงหาคม ก็จะเป็นวันเริ่มต้นของการรับสมัครผู้ที่สนใจจะมาร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทวนความจำกันอีกครั้งว่า มีสองแบบ 1.ตัวแทนจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะคัดมาจังหวัดละ 5 คน เพื่อให้ คสช.คัดเหลือ 1 คน และ 1 คนนี้จะการันตีตำแหน่งในสภาปฏิรูป โดยจะมีทั้งสิ้น 77 คน 2.ตัวแทนจากกลุ่มปฏิรูป 11 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน รวม 550 คน และ คสช.จะคัดเลือกให้เหลือ 173 คน เพื่อให้ทั้งสภาปฏิรูปมีสมาชิก 250 คน
โดยในส่วนของกลุ่มปฏิรูปทั้ง 11 กลุ่มนั้น การเสนอชื่อจะต้องถูกเสนอโดยองค์การนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งว่าไปแล้ววิธีการสมัครเช่นนี้คล้ายกับวิธีการสมัคร ส.ว.สรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้เสนอชื่อโดยองค์กรนิติบุคคล และเคยเป็นปัญหามาแล้วว่า องค์กรที่เสนอชื่อมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร เพราะที่ผ่านมาเคยปรากฏว่าแม้แต่ "นิติบุคคลคอนโด" ก็สามารถส่งชื่อได้
เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยและให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจริงๆ ผู้คัดเลือกและสกรีนอาจต้องมีความเข้มข้น เพื่อให้ได้คนตามสเปกที่ต้องการจริงๆ นี่คือสิ่งที่อยากฝากเอาไว้
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูเมื่อวันที่ "คิกออฟ" สภาปฏิรูปประเทศ เราจะเห็นภาพอะไรบางอย่างได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประการแรกคือ ท่าทีที่มั่นใจของ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่าเขารู้สึกว่า "เอาอยู่" และอาจจะรวมไปถึงความรู้สึกที่ว่าตอนนี้ตนเองมีอำนาจเหนือคนที่มาร่วม
เราจึงได้เห็นท่าทีลีลาการพูดที่ทั้งบ่น ตำหนิ ติติง วิพากษ์ รวมถึงหลายครั้งที่ฟังคล้ายเป็นคำสั่ง และความพยายามปล่อยมุกคลายเครียดกับคนที่อยู่ในห้องประชุม แต่คล้ายครูฝ่ายปกครองที่เล่นมุกกับนักเรียนเสียมากกว่า ซึ่งนักเรียนได้แต่หัวเราะแหะแหะด้วยความเกรงใจ โดยไม่มีใครล่วงรู้ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายใน
คำถามอยู่ที่ "ประยุทธ์" กำลังเอาอยู่จริงหรือไม่
นี่จึงเป็นข้อสังเกตประการที่สอง คือ สภาพการณ์คิกออฟสภาปฏิรูปในวันนั้น มิได้อยู่ในสภาวะแห่งความสมัครใจที่จะเดินหน้าเข้ามาปฏิรูป หากแต่มาในฐานะถูกสั่ง ทั้งในส่วนของการเมืองและคู่ขัดแย้ง
เพราะคล้อยหลังไม่นานเราได้เห็นคำให้สัมภาษณ์ของ "วีระกานต์ มุสิกพงศ์" แกนนำ นปช. ซึ่งสะท้อนความเป็นไปที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
"ผมมาร่วมงานตามคำเชิญของหน่วยงานทหาร แต่หากถามว่าสมัครใจมาหรือไม่ ขอตอบว่าไม่ได้สมัครใจ" วีระกานต์ ตอบอย่างไม่เกรงใจทั้งๆ ที่ยังอยู่ในงานด้วยซ้ำ
ยิ่งไปกว่านั้น "วีระกานต์" ยังสะท้อนภาพความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดง เมื่อถูกถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ขอให้กลุ่มการเมือง, บุคคลที่ต่อต้าน คสช. ยุติการคัดค้านเพื่อสร้างประโยชน์ให้บ้านเมือง
"ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริหารและบรรยากาศในอนาคต ผมตอบแทนกลุ่ม นปช.ไม่ได้ หากจะให้แสดงความเห็นในนามส่วนตัว มองว่า นปช.ยังไม่ตาย ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างใดในอนาคตหรือไม่ ต้องรอดู"
ตอบแค่นี้ก็ชัดแล้วว่า นาทีนี้ปัญหาทุกอย่างยังไม่สงบราบคาบอย่างที่หลายๆ คนคิด หากแต่รอวันปะทุหากมีประเด็นหรือความผิดพลาดเกิดขึ้น
บทเรียนเช่นนี้มีให้เห็นเป็นรูปธรรมในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ดูเหมือนจะเอาสถานการณ์อยู่ในทุกเรื่อง แต่เมื่อก้าวพลาดเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพียงก้าวเดียว ทุกอย่างก็พังครืนเป็นโดมิโน ฉันใดก็ฉันนั้น หาก คสช.ก้าวพลาดจนเป็นประเด็นร่วมของสังคม เมื่อนั้น คสช.ก็จะตกที่นั่งเดียวกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยประสบ
ดังนั้น "ประยุทธ์ และคณะ" จึงต้องบริหารประเทศด้วยความระมัดระวัง อย่าคิดประมาทว่า "เอาอยู่" ในทุกสถานการณ์ เพราะเท่าที่เห็นยังไม่ใช่การ "เอาอยู่" หากแต่ยังเป็นสภาวะรอจังหวะและโอกาสต่างหาก
-------
(หมายเหตุ : 'ประยุทธ์'เอาอยู่? : ขยายปมร้อน สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ)