คอลัมนิสต์

'แม่' และสังคมผู้สูงวัย

'แม่' และสังคมผู้สูงวัย

12 ส.ค. 2557

'แม่' และสังคมผู้สูงวัย : บทบรรณาธิการ วันอังคารที่ 12 สิงหาคม 2557

 
                         หญิงผู้ดำรงสถานะของความเป็นแม่ในสังคมไทยทุกวันนี้ มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่กำลังตกอยู่ในความเปลี่ยวเหงา อ้างว้าง ไร้คนเหลียวแลเอาใจใส่ เพราะสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากครอบครัวอันเคยอบอุ่น ประกอบด้วยสมาชิกหลากหลายวัยกลายเป็นคนแก่อยู่อย่างเดียวดาย หรืออีกอย่างก็คือ ต้องเลี้ยงดูเด็กในรุ่นหลาน รุ่นเหลน เป็นภาระหนักอึ้งที่ลูกฝากไว้ให้ นั่นคือภาพความเป็นจริงที่สะท้อนให้เห็นถึง การย่างก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยนับจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และจะเป็นสังคมเช่นว่านั้นอย่างเต็มขั้นในปี 2565 กล่าวคือ มีโครงสร้างสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 แต่กระนั้น ถึงแม้ว่าประชากรในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานละทิ้งครอบครัว พ่อแม่และลูกๆ ไปอยู่ในสายการผลิต หากแต่ในระยะเวลา 30 ปีนับจากนี้ กลับมีแนวโน้มว่าประชากรวัยทำงานก็จะลดลงเหลือประมาณ 35 ล้านคน จากที่เมื่อปี 2553 มีมากถึง 42 ล้านคนด้วยเช่นกัน
 
                         จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับความสุขในครอบครัว ซึ่งพบว่า ประชากรใน จ.สมุทรสงคราม จังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยและภาพภายนอกดูเหมือนที่นี่จะสุขสงบกว่าที่อื่นนั้น กลับได้รับคะแนนความสุขต่ำสุดของประเทศ นั่นเป็นผลมาจากสภาพทางครอบครัวดังที่กล่าวมาข้างต้น อย่างเช่นที่ได้สะท้อนผ่านชีวิตของนางสงบ แสงจันทน์ อายุ 73 ปี ชาว ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง ที่แม้นางจะบอกว่า ชีวิตมีความสุขที่ได้อยู่และเลี้ยงดูหลานวัย 9 และ 6 ขวบ หากแต่การที่ลูกทั้ง 4 ต้องแบกภาระไว้บนบ่า ออกไปทำงานในต่างจังหวัด จะกลับมาเยี่ยมบ้านเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ทำให้นางเครียดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกิดตามมา เพราะสภาพความสูงวัยอันไม่อาจจะหลีกเลี่ยง
 
                         ในอีกด้านหนึ่ง มีผลสำรวจความคิดเห็นของแม่ทั่วประเทศที่จัดทำโดย "สวนดุสิตโพล" เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา สะท้อนสภาพครอบครัวปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยตัวอย่างจากการสำรวจครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกในปัจจุบันลดน้อยลง ด้วยคะแนนจากแบบสอบถามที่ปรากฏเป็นตัวเลขออกมาที่ร้อยละ 58.92 โดยให้เหตุผลสอดคล้องต้องกันว่า เป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องทำมาหากิน จนทำให้มีเวลาให้กันน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 25.64 กลับเห็นว่า ความใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูกในปัจจุบันมีมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้น กระนั้นโดยรวมแล้ว ในความเห็นของผู้ที่เป็นแม่ที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งสองด้าน ก็ต้องนับว่า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเอาใจใสอย่างจริงจัง
 
                         ความเปลี่ยนแปลงอย่างเงียบๆ ที่สมาชิกในสังคมอาจจะไม่ทันได้สังเกตเช่นว่ามานี้ กำลังคืบคลานสู่สังคมไทยอย่างช้าๆ และกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นอีกแบบหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่เพียงเฉพาะภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงวัย ที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อดูแลในเรื่องสังคม สุขภาพอนามัยและการสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรวัยทำงานก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นหลายประเทศกำลังได้เปรียบด้านประชากรในวัยเด็ก และวัยทำงานที่อยู่ในสัดส่วนที่มากกว่าประเทศไทยในระยะจากนี้ไป