
ความจริงก่อนถึง 'วันแม่'
12 ส.ค. 2557
ขยายปมร้อน : ความจริงก่อนถึง 'วันแม่' : โดย...ศรายุทธ สายคำมี
"สภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด และรายได้อันงดงามและง่ายดายจากการทำธุรกิจนี้ ทำให้ความรู้สึกผูกพันฉันแม่ลูก เป็นเรื่องฝุ่นผงอันไร้ค่า"
สวนดุสิตโพล ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นบรรดาผู้เป็นแม่ทั้งหลาย เนื่องในวันแม่แห่งชาตินับเป็น "ความจริง" ที่น่าตกใจไม่น้อย
กว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าทุกวันนี้ความผูกพันระหว่างแม่ลูกนั้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้สายสัมพันธ์ที่เดิมนั้นลงได้เป็น "สายเลือดเดียวกัน" แล้วชีวิตก็สละให้ได้
แต่ในปัจจุบันนั้นลดลงอย่างฮวบฮาบ
เหตุผลก็เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป
แม้ทุกคนจะรับรู้ว่า สังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน มองที่เป้าหมาย โดยที่ไม่เลือกวิธีการไปสู่เป้าหมาย คือสิ่งที่นำมาซึ่งความแตกสลายของครอบครัว แต่ด้วยแรงบีบรัด และความทะยานอยากยืนอยู่บนที่สูงกว่า ทำให้การเปลี่ยนแปลงด้วย "ทางลัด" เข้ามาครอบงำได้ไม่ยากนัก
แม้ว่าวิธีการแบบนั้นจะทำให้ความรู้สึกผูกพันระหว่างแม่-ลูกลดลงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างราว 25% เห็นว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูกนั้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น
แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อย ที่ตัวเลขออกมาไม่ได้ทำให้ความกังวลต่อสถานการณ์ครอบครัวในอนาคตลดลง เนื่องเพราะเลือกในแนวทางที่จะ "เลี้ยงลูกด้วยเงิน"
ถึงแม้ว่า หลายหน่วยงานจะพยายามเข้าดำเนินการเพื่อให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวแน่นแฟ้น เช่น กระทรวงแรงงาน ก็มีนโยบายให้สถานประกอบการจัดสถานที่เพื่อรองรับบรรดาลูกๆ ของพนักงาน และจัดให้มีคนดูแล หรือเมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ก็จัดกิจกรรม "มุมนมแม่" ซึ่งก็จัดให้มีขึ้นในสถานประกอบการ ก็เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการให้นมแม่ ที่ไม่เพียงการเพิ่มความผูกพัน หากแต่เพื่อให้ลูกที่เกิดมาได้มีร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
แต่ความพยายามเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับ "ความจริง" ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณี "อุ้มบุญ" ที่เป็นข่าวมาสอง-สามสัปดาห์แล้ว
ประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ดูจะเน้นหนักไปที่ข้อกฎหมาย และความรับผิดชอบ รวมทั้งมนุษยธรรม
และเป็นที่ปรากฏแล้วว่า ในแง่ของข้อกฎหมายนั้น ครอบคลุมแต่เฉพาะแพทย์และสถานพยาบาลที่ดำเนินการในเรื่องนี้
ส่วนเรื่องของความรับผิดชอบ ก็พุ่งเป้าไปที่เจ้าของน้ำเชื้อ หรือผู้ที่ร้องขอให้มีการ "อุ้มบุญ"
ขณะเดียวกัน เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกระแทกไปยังความรู้สึกของผู้คนที่รับรู้ข่าวสาร ก็พากันเพรียกหา หรือแสดงออกซึ่งการมีมนุษยธรรม และมืดแปดด้านที่จะหาทางขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น
ความจำเป็นในการเจริญพันธุ์ กับการทำธุรกิจกลายเป็นเรื่องที่แยกแยะออกจากกันได้อย่างยากลำบากไปแล้วในสภาพสังคมวันนี้
การเอาผิดเฉพาะแพทย์และสถานประกอบการ แต่ไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่ทำธุรกิจเป็นนายหน้า เป็นตัวกลาง ทำให้เรื่องราวที่สะท้อนความเสื่อมทรามของสังคมนี้ยังคงเดินของมันไปได้ แม้ว่าสังคมจะแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ
กรณีที่เกิดขึ้นเป็นข่าวล่าสุดนั้น สร้างความสับสนให้แก่ผู้คนในสังคมที่แต่เดิมรับรู้ว่า เมื่อเด็กเกิดมาแล้ว แต่ "ลูกค้า" ไม่ยอมรับ ก็จะเลี้ยงดูกันไป แต่เมื่อไปฟัง "นายหน้า" แล้วกลายเป็นว่า มีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
ไม่ได้มีเรื่องความผูกพัน ไม่มีเรื่องสายใยความเป็นแม่ลูก !
เช่นเดียวกับการที่มูลนิธิปวีณา ไปเปิดโปงจนพบว่ามีกรณี "อุ้มบุญ" ให้แก่ "ลูกค้า" ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นอีกเกือบสิบราย
สภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด และรายได้อันงดงามและง่ายดายจากการทำธุรกิจนี้ ทำให้ความรู้สึกผูกพันฉันท์แม่ลูก เป็นเรื่องฝุ่นผงอันไร้ค่า
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลการสำรวจจะออกเช่นนั้น...แต่มันเป็นเรื่องน่าตกใจหลายทุกฝ่ายเห็นว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ
-----------------------
(ขยายปมร้อน : ความจริงก่อนถึง 'วันแม่' : โดย...ศรายุทธ สายคำมี)