คอลัมนิสต์

คสช.กับนโยบายเร่งด่วนอาเซียน (2)

คสช.กับนโยบายเร่งด่วนอาเซียน (2)

12 ส.ค. 2557

โลกสาระจิปาถะ : คสช.กับนโยบายเร่งด่วนอาเซียน (2) : โดย...กวี จงกิจถาวร [email protected]

 
                         นโยบายเร่งด่วนที่สองคือ เรียกร้องให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ดูแลกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ ที่จำเป็นต้องให้สัตยาบัน หรือแก้ไขกฎข้อระเบียบเพื่อจะได้บูรณาการกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ให้เร่งทำแบบ “one stop service” โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับชายแดนเพื่อนบ้าน มีทั้งการค้า การลงทุน การไปมาหาสู่กัน 
 
                         ฝ่ายไทยมักจะเน้นอันตรายเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติและขบวนการลักพามนุษย์ทำให้ดูน่ากลัว หลังแก้หรือปรับกฎหมายต่างๆ ให้มีความชัดเจนและทันสมัย ต้องแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนประจำตามชายแดน โดยเฉพาะชายแดนไทย-กัมพูชา และไทย-พม่า เพราะมีกิจกรรมผิดกฎหมายมากมาย ต้องมีความซื่อสัตย์ในการทำงานวันต่อวัน มีการตรวจสอบคนเข้า-ออกอย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุดคือ ระบบจัดข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเราต้องทันสมัย มีเครือข่ายทั่วถึงในประเทศและการติดต่อกับเครือข่ายต่างประเทศในกรณีที่มีผู้ต้องสงสัยแอบเข้ามามา (ในประเด็นนี้ทางกัมพูชาและมาเลเซียทำได้ดีกว่าไทย มีเครือข่ายกับต่างประเทศที่มีแฟ้มประวัติของผู้ต้องสงสัยต่างชาติ)
 
                         คนไทยกลัวว่า เวลามีประชาคมอาเซียนจะมีคนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาแย่งงานคนไทยทำ ตามจริงมีประชาคมอาเซียนมีหรือไม่ แรงงานต่างชาติก็เข้ามาไทยอยู่ดี เพราะเราตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของอาเซียอาคเนย์ มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่ดี เราต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติให้ดี การมีประชาคมอาเซียนยิ่งดี คือไทยจะได้มีกรอบชัดเจนในการนำไปปฏิบัติ แต่เราต้องทำแบบจริงจัง ไม่ใช่พอจะทำอะไรขึ้นมา กลายเป็นการกวาดล้างหรือทำอย่างรีบเร่ง ทำให้เสียภาพลักษณ์ประเทศอย่างที่เกิดขึ้นกับแรงงานกัมพูชาที่ผ่านมา
 
                         นโยบายเร่งด่วนที่สามคือ ต้องส่งเสริมนักธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น เพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียในทุกๆ ด้าน สองประเทศนี้เป็นคู่แข่งที่สำคัญที่นักธุรกิจไทยกลัวว่าจะสู้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านทักษะ ทางด้านภาษา เทคนิคการสื่อสาร การทำธุรกิจหรือนวัตกรรมต่างๆ กลุ่มนักธุรกิจเอสเอ็มอีเหล่านี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจมีอัตราความเจริญต่อไปในอนาคต เพราะมีประเทศเพื่อนบ้าน (ยกเว้นมาเลเซีย) ที่ยังด้อยพัฒนาที่เป็นตลาดใหญ่ของเรา จึงเป็นโอกาสอันดี
 
                         ในบริบทอาเซียนเกือบทุกประเทศมีการลงทุนในเอสเอ็มอีมีมากที่สุด และเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต
 
                         ประเด็นที่สี่เกี่ยวกับบทบาทไทยในเรื่องกองกำลังรักษาสันติภาพที่ทหารไทยทำหน้าที่ได้ดี ตั้งแต่สมัยกัมพูชา ติมอร์ตะวันออก ที่อัฟกานิสถาน อูกันดา และซูดานใต้ ทหารสร้างชื่อเสียงไว้มาก ไทยควรส่งเสริมให้อาเซียนเข้ามาร่วมมือกันพัฒนากองกำลังรักษาสันติภาพในกรอบของอาเซียน เพราะมันถึงเวลาแล้ว อาเซียนทุกประเทศมีประสบการณ์ในเรื่องกองกำลังรักษาสันติภาพอยู่แล้ว จึงถึงเวลาชักธงอาเซียนได้แล้ว อาเซียนหลายประเทศกลัวว่า ถ้าชักธงอาเซียนแล้วมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม ในประเด็นนี้ไทยสามารถขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติได้
 
                         นโยบายเร่งด่วนที่ห้าคือ ไทยต้องสนับสนุนการแก้ไขระเบียบกฎข้อบังคับของกรอบส่งเสริมและป้องกันสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ไทยมีบทบาทเด่นมาตลอดในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในการร่างละเอียดเกี่ยวกับกฎข้อบังคับเหล่านี้ ไทยควรสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกมีมาตรการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนอาเซียนร้องเรียนได้ ในกรณีที่ไม่ได้รับความยุติธรรมภายในบ้านของตัวเอง
 
                         ปีนี้ในที่ประชุมประจำปีอาเซียนที่กรุงเนปิดอว์ ไทยและฟิลิปินส์ส่งรายงานสิทธิมนุษยชนต่อคณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ให้แก่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้อ่านอย่างทั่วถึง ในปีที่แล้วอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกที่ทำก่อน การกระทำแบบนี้เท่ากับส่งเสริมให้อาเซียนมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ถือเป็นการแทรกแซง
 
                         ประเด็นสุดท้ายอาจจะไม่เกี่ยวกับอาเซียนโดยตรง แต่มันมีผลทางอ้อมต่ออาเซียน คือ การให้อนุญาตองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคประชาสังคมมาตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่สมาชิกอาเซียนจะรีบปฏิเสธ เพราะเห็นองค์กรเหล่านี้มุ่งแต่เสนอข่าวร้ายหรือผิดปกติของสังคม ตามจริงองค์กรเหล่านี้ เป็นเหมือนสุนัขเฝ้าบ้าน บางครั้งเจ้าบ้านเผลอไปไม่ได้เฝ้าบ้านทุกซอกทุกมุม หรือตามประเด็นต่างๆ องค์การเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
                         สังคมไทยเป็นสังคมเปิด ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนมาใส่ร้าย เราต้องเพิ่มความโปร่งใสให้คนในและนอกประเทศเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเรา บางครั้งเรากลัวตัวเองมากเกินไปทำให้พลาดโอกาสในการอธิบายตัวเอง มีอยู่บ่อยครั้งที่ไทยเรามักต้องรับเคราะห์เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์กับการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นเพราะว่าบ้านเราไม่โปร่งใสพอ ทำให้ตกเป็นข่าวอื้อฉาวประจำ บางประเทศเช่นออสเตรเลียมีนโยบายต่อผู้ลี้ภัยที่เข้ามาทางทะเลค่อยข้างโหดเหี้ยม แต่รัฐบาลออสเตรเลียประกาศออกมาชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ไม่มีการปกปิด ฉะนั้น คสช.ต้องโปร่งใสในทุกๆ เรื่อง เพื่อส่งเสริมความน่าเชื่อถือของบ้านเมืองเรา โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นต้นไป
 
 
 
-----------------------
 
(โลกสาระจิปาถะ : คสช.กับนโยบายเร่งด่วนอาเซียน (2) : โดย...กวี จงกิจถาวร [email protected])