คอลัมนิสต์

แบบอย่างแห่งความยั่งยืน

แบบอย่างแห่งความยั่งยืน

11 ส.ค. 2557

แบบอย่างแห่งความยั่งยืน : บทบรรณาธิการ วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2557

 
                         ด้วยพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยความห่วงใยราษฎรของพระองค์ โครงการฟาร์มตัวอย่าง บ้านยางกลาง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และจัดหาอาหารทางด้านการเกษตรให้แก่ราษฎรจำนวนมากที่ต้องประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยอุทกภัย ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2549 จนทำให้พื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัย รวมทั้งสิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้รับความเสียหาย โดย จ.อ่างทอง ได้จัดทำฟาร์มตัวอย่าง 2 แห่ง คือที่ หนองระหารจีน ต.บ้านอิฐ อ.เมือง ในพื้นที่ 36 ไร่ แห่งที่ 2 ที่หมู่ 3 ต.สีบัวทอง ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ มีระบบส่งน้ำชลประทานที่สมบูรณ์ ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง พื้นที่ทั้งหมด 1,005 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา 
 
                         สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโครงการฟาร์มตัวอย่างขึ้น ก็เพื่อให้เป็นแหล่งจ้างแรงงาน ให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้และฝึกอาชีพภายในฟาร์ม ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพ เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมครัวเรือน ให้ราษฎรสามารถทำการเกษตรได้ผลผลิตอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัยต่อสุขภาพ เป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นธนาคารอาหารของชุมชนสำหรับผลิตอาหารปลอดภัย ราคาถูก หาซื้อได้ในท้องถิ่น ตลอดจนขยายผลไปสู่การค้าและประชาชนทั่วไปในพื้นที่โดยไม่หวังผลกำไร เป็นศูนย์การเรียนรู้ "ฟาร์มตัวอย่างของภาคกลาง" และสุดท้ายคือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตร
 
                         สำหรับการดำเนินโครงการที่หมู่ 3 ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา ในระยะที่ 2 นั้น กรมป่าไม้ได้จัดทำเป็นพื้นที่ป่าไม้ตัวอย่าง เป็นศูนย์ถ่ายทอดวิชาการป่าไม้ โดยการสร้างป่าต้นน้ำจำลอง และนำเสนอรูปแบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยฝายชะลอความชุ่มชื้น และการปลูกแฝก จัดทำสวนรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ แปลงสาธิตระบบวนเกษตร ป่าไม้ 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อสร้างเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีป่าไม้ ส่งเสริมอาชีพป่าไม้ และเป็นแหล่งผลิตอาหารป่า เป็นธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) และจะสาธิตด้านการจัดการผลผลิตที่ได้จากสวนป่าต่างๆ อันจะนำไปสู่การนำผลผลิตป่าไม้ไปใช้ประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป และเยาวชนใน จ.อ่างทอง และใกล้เคียง
 
                         ด้วยพระราชปรีชาญาณดังกล่าวมานี้เอง "โครงการฟาร์มตัวอย่าง" จึงถือเป็นต้นแบบของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนาอย่างแท้จริงและยั่งยืน ซึ่งไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด สังคมจะแปรเปลี่ยนไปเช่นไร ต้นแบบที่ว่านี้ก็ไม่มีทางที่จะล้าสมัยไปได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าจะเปรียบไป ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ก็เหมือนกับมหาวิทยาลัยที่รวบรวมเอาภูมิปัญญาเข้ามาไว้ในนี้ เพื่อให้ราษฎรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อันนำไปสู่การพึ่งพิงตัวเอง อย่างพอเพียงให้ได้อยู่อย่างมีความสุข และสามารถขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมและปลอดภัยกับทุกชีวิตในสังคม ขณะเดียวกัน ยังปกปักษ์รักษาชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของพวกเขาเอาไว้มิให้ถูกล่วงล้ำก้ำเกิน จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ ซึ่งผู้บริหารประเทศทุกยุคสมัย พึงยึดเป็นแบบอย่าง ในการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนในชุมชนอื่นๆ ต่อไป