
'นายกฯไทย' ต้องไปได้ทุกภาค
11 ส.ค. 2557
ขยายปมร้อน : 'นายกฯไทย' ต้องไปได้ทุกภาค : โดย...จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง สำนักข่าวเนชั่น
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคสช. จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย ตามที่มีเสียงวิจารณ์และแรงหนุนเชียร์จากประชาชนผ่านทางสำนักโพลล์หลายสำนักที่ไปสำรวจความเห็นของประชาชนหรือไม่ยังไม่มีใครรู้
แต่ที่รู้ตอนนี้คือ กระทั่งในโลกออนไลน์ มีคนหวังดีไปเปิดหน้าแฟนเพจในเฟซบุ๊ก ชื่อเพจ "ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ" ช่วยหนุนท่านหัวหน้า คสช.อีกแรง
และแม้ว่ากระแสวิจารณ์กันมากสักแค่ไหนก็ช่าง พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ใช้โอกาสที่มีในการมอบนโยบาย หรือ "คิกออฟ" สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อเสาร์ที่ผ่านมา ที่สโมสรทหารบก ถึงเสียงสนับสนุนให้นั่งนายกฯ รวมถึง ครม.ชุดใหม่ว่า
"ปลายเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไปที่จะมีรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ก็ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์กันมากนัก หนังสือพิมพ์เขียนกันมาทุกวัน กระทรวงนั้นเป็นคนนั้น บางคนผมยังไม่เคยรู้จัก ก็ไม่ใช่ทั้งนั้น เพราะยังไม่ได้ตั้ง"
และบางจังหวะหัวหน้า คสช.ก็ยังกระเซ้าเล่นกับคนที่มานั่งฟังนโยบายในสโมสรทหารบกว่า "..ไหน ไหน มีใครอยากเป็นนายกฯ ไหม ยกมือหน่อย.." ทำเอาคนในห้องประชุมหัวเราะร่วนชอบใจ แต่ก็ไม่มีใครกล้ายกมือ
นัยหนึ่งก็เป็นการชี้แจงของหัวหน้า คสช. ตามโอกาสที่มีการถ่ายทอดสดทุกช่อง และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการย้ำถึง "โรดแม็พ" ที่เป็นทิศทางการทำงานของ คสช.อีกครั้ง ตอบข้อสงสัยของสังคมไทยและสังคมโลกที่ตั้งคำถามว่าเมื่อไรประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีเสียที
ซึ่งโรดแม็พนี้ก็สอดรับกับข้อมูลของ "อาจารย์วิษณุ เครืองาม" มือกฎหมายเบอร์หนึ่งของ คสช. ที่ขึ้นบรรยายในเวทีเดียวกับหัวหน้า คสช.ว่า "จากนี้ (9 ส.ค.) คงใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นเล็กน้อยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คงจะเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศ และหลังจากนั้น 1 สัปดาห์และบวกเล็กน้อยนายกฯ จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเข้าทำงานที่อาจจะล้ำไปจนถึงเดือนกันยายน และช่วงต้นเดือนกันยายนจะแถลงนโยบายต่อ สนช. ..."
ก็เป็นความชัวร์แล้วว่าประเทศไทยจะมีนายกฯ คนที่ 29 ปลายสิงหาคมและมี ครม.ช่วงต้นกันยายน ก็คงเฝ้ารอกันอีกไม่นานก็จะได้ตอบโจทย์กับคำถาม "ใครจะมาเป็นนายกฯ"
หลังจากนั้น เมื่อมี "รัฐบาล" แล้ว งานบริหารราชการแผ่นดินก็เดินหน้าเต็มสูบ แต่สิ่งที่ชวนคิดและอยากเห็นคือ "นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปได้ทุกจังหวัด"
ประเด็นนี้แวบขึ้นมา เพราะย้อนเห็นภาพในอดีตรอบ 10 ปีของวิกฤติความขัดแย้งนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2547 ที่นายกฯ และรัฐมนตรีโดนกลุ่มประชาชนที่ไม่สนับสนุนรวมตัวต่อต้านขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ ทำให้รัฐบาลเลือกที่จะเดินทางไปเฉพาะภูมิภาคหรือจังหวัดที่ไม่มีการต่อต้าน
อาทิ รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเดินทางลงพื้นที่ไปได้เฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ หรือรัฐบาลอีกพรรคการเมืองหนึ่งไปได้เฉพาะภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ไปเหนือกับอีสานจะโดนขับไล่
ด้วยความที่ลงพื้นที่ก็ไปได้ไม่ทั่วทุกจังหวัด ก็ทำให้เกิดข้อครหาถึงการที่รัฐบาลเลือกที่จะจัดสรรงบประมาณและเลือกพื้นที่ที่จะนำโครงการต่างๆของรัฐไปลงสู่ประชาชน เพื่อเอาใจฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งผลที่ตามมาก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น จากนี้จนถึงช่วงต้นเดือนกันยายน "ไม่ว่าใครก็ตาม" ที่ได้ขึ้นเป็น "นายกรัฐมนตรีคนที่ 29" และมีโอกาสทำงานร่วมใน ครม.ชุดใหม่ หวังอย่างยิ่งว่าจะลงพื้นที่ไปดูแลปัญหาของประชาชนอย่างเท่าเทียมกันได้ทุกหย่อมหญ้า แม้จะคิดไปด้านลบว่า ถ้าโดนต่อต้านก็หวังใจว่าจะไม่ย่อท้อจนกระทบกับการจัดงบประมาณ และจัดสรรโครงการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนเลย เพื่อให้ "นายกฯ ไทย" เป็นของคนไทยทุกคน
----------------------
(ขยายปมร้อน : 'นายกฯไทย' ต้องไปได้ทุกภาค : โดย...จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง สำนักข่าวเนชั่น)