
'อุ้มบุญ-ค้ามนุษย์'เส้นแบ่งศีลธรรม
'อุ้มบุญ-ค้ามนุษย์'เส้นแบ่งศีลธรรม : บทบรรณาธิการประจำวันที่7ส.ค.2557
ปัญหาการอุ้มบุญที่กลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคม จากกรณีที่สามีภรรยาชาวออสเตรเลียมาว่าจ้างหญิงไทยอุ้มบุญ แต่เมื่อคลอดลูกแฝดแล้วกลับนำแต่แฝดหญิงที่ร่างกายสมบูรณ์กลับประเทศไป ส่วนแฝดชายที่เป็นดาวน์ซินโดรมและโรคหัวใจกลับปล่อยทิ้งให้แม่อุ้มบุญชาวไทยต้องเลี้ยงดู จนเรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันต่อมาอีกหลายประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงทางสังคมและจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำอุ้มบุญในเมืองไทยในลักษณะเข้าข่ายการค้าพาณิชย์ มีการว่าจ้างและหาหญิงสาวมาอุ้มท้องนั้น ถือว่าผิดกฎหมายค้ามนุษย์ และหลายประเทศก็ห้ามในลักษณะดังกล่าว แต่อีกบางฝ่ายก็แย้งว่า กระทำได้ เพราะเป็นความสมัครใจของผู้รับจ้างอุ้มบุญและฝ่ายผู้ว่าจ้างไม่มีอะไรเสียหาย
การจ้างผู้อื่นท้องแทน หรืออุ้มบุญ ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งตามประกาศแพทยสภา ที่ 21/2545 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ฉบับที่ 2) กำหนดไว้ว่า กรณีที่คู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ดำเนินการต้องใช้ตัวอ่อนที่มาจากเซลล์สืบพันธุ์ของคู่สมรสเท่านั้น ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์ และหญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของคู่สมรสของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีการกระทำที่ไม่ตรงตามประกาศดังกล่าวย่อมมีความผิดทั้งสถานพยาบาลที่ให้บริการ แพทย์ผู้ทำการดูแลอุ้มบุญ และกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
สิ่งที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงจากการเปิดเผยข้อมูลของผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ระบุถึงธุรกิจอุ้มบุญในเมืองไทยว่า มีเอเยนซี หรือตัวกลางในการประสานผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้าง และหาสถานพยาบาลดำเนินการมีการโฆษณาเรื่องการรับจ้างอุ้มบุญตามอินเทอร์เน็ตมากมาย เอเยนซีมีจำนวนมากมายหลายชาติ เพราะต่างชาติถือว่าประเทศไทยเป็นแดนสวรรค์ของการทำอุ้มบุญ ซึ่งเอเยนซีหลักๆ มีประมาณ 20 ราย มูลค่าการรับจ้างอุ้มบุญปีหนึ่งตกราวประมาณ 4,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่มโหฬารและเป็นขบวนการที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน นอกจากนี้ก็ไม่อาจทราบได้เลยว่าเด็กที่เกิดจากอุ้มบุญถูกนำไปที่ไหนเลี้ยงดูอย่างไรหรือถูกนำไปใช้เพื่อการสิ่งใดที่ผิดศีลธรรมหรือไม่
แม้ว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ…. หรือกฎหมายอุ้มบุญ ที่มีเนื้อหาสำคัญคือ อุ้มบุญได้ในกรณีต้องการสืบสกุล ผู้รับอุ้มบุญต้องเป็นเครือญาติกัน ไม่ใช่กระทำเพื่อเชิงธุกิจเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเร็วๆ นี้ แต่กรณีที่มีการเข้าตรวจค้นคอนโดมิเนียมย่านลาดพร้าว 130 พบเด็กเล็กวัยไม่กี่เดือนจนถึง 10 ขวบ จำนวน 9 คน พร้อมพี่เลี้ยงเด็ก และมีพ่อชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ว่าจ้างทำอุ้มบุญ ถือเป็นเรื่องเข้าข่ายคดีค้ามนุษย์ได้ โดยเฉพาะการที่ไทยถูกสหรัฐขึ้นบัญชีระดับ 3 ล้มเหลวปราบปรามการค้ามนุษย์ ดังนั้นเรื่องอุ้มบุญอาจกลายเป็นปมใหญ่ให้ไทยต้องลำบากมากขึ้น ทุกฝ่ายจึงต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน