
ปัญหาใต้พรม
ปัญหาใต้พรม : ขยายปมร้อน สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ
ห้วงเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองประเทศมาเกินสองเดือน และเริ่มก้าวเข้าสู่ระยะที่สองของการทำงาน ความไม่พอใจก็เริ่มแย้มออกมาให้เห็นบ้างแล้ว
เพราะความปรองดองและความสงบความสุขดังที่ คสช.วาดหวังไว้นั้น ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายสูงสุด
เริ่มตั้งแต่คนที่ไม่เห็นชอบอย่างคนเสื้อแดงบางส่วนที่มีความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด มานาทีนี้เหมือนความเคลื่อนไหวจะเริ่มขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น และสร้างปรากฏการณ์ถี่ขึ้น
เราจึงได้เห็นการแจกใบปลิว การแสดงความไม่เห็นด้วยผ่านตัวหนังสือตามสถานที่ต่างๆ ไม่เว้นตึกร้างหรือฝาผนัง หรือกระทั่ง "แฟลชม็อบ" ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยมาในลักษณะ "มาไวไปไว" เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับทหาร
หรือล่าสุดกรณีที่สร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่น้อยคือกรณีของ "กริชสุดา คุณะแสน" ซึ่งเคยถูกทหารเรียกไปควบคุมตัวปรับทัศนคติและหายไปเป็นเวลานานจนถูกจับตา กระทั่งทหารพาเจ้าตัวมาแถลงข่าวว่าความเป็นอยู่สุขสบาย
แต่เวลาผ่านไป "กริชสุดา" เดินทางไปต่างประเทศพร้อมขอลี้ภัย โดยระบุว่าระหว่างถูกควบคุมตัวนั้นถูกทำร้ายร่างกายและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง โดยมีสื่อต่างชาตินำเสนอข่าวดังกล่าว จนเป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนนอกประเทศ
แม้ คสช.จะออกมาแก้ตัวว่าไม่มีการกระทำดังกล่าว แต่แน่นอนว่าผู้ที่เสพข่าวสารย่อมมีบางส่วนที่เชื่อ "กริชสุดา" และ บางส่วนที่เชื่อ "คสช."
นอกจากนี้ฝั่งการเมืองหรือกระทั่งคนที่ไม่เคยต่อต้านการเข้ายึดอำนาจก็เริ่มออกมาแสดงความเห็นในทางที่ไม่เป็นบวกนัก อย่างนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่เริ่มมีแนวหน้ากล้าตายออกมาตำหนิ คสช. เป็นระยะๆ โดยเฉพาะท่าทีที่ปิดกั้นนักการเมือง
รวมถึงอดีต กลุ่ม 40 ส.ว. ที่ใครๆ ก็รู้ว่าไม่มีทางญาติดีกับระบอบ "ทักษิณ" ก็ยังออกมาวิจารณ์การทำงานของ คสช. ในส่วนของการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่นเดียวกับเอ็นจีโอ และสื่อบางสำนัก ต่างก็ออกมาแสดงจุดยืนที่อยู่ขั้วตรงข้าม แม้ก่อนหน้านี้จะทำท่าผายมือต้อนรับการรัฐประหารก็ตามที
เหล่านี้ย่อมมีเหตุผลในการอธิบาย แน่นอนว่าบางส่วนการกระทำมีวัตถุประสงค์แอบแฝง บางส่วนยังหวังที่จะเข้ามาร่วมวงอำนาจในช่วงนี้ด้วย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในกลุ่มทั้งหลายเหล่านี้ย่อมมีบางคนที่บริสุทธิ์ใจอยู่ด้วยเช่นกัน
ผู้มีอำนาจอาจต้องหันมามองคนกลุ่มนี้อย่างเข้าใจ จะใช้ตัวแบบปรองดองแบบเหมารวมไม่ได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับ คสช. ไปเสียทั้งหมด และจะมัวแต่ฟังเสียงโพลล์เชียร์ ที่มีผลประโยชน์แอบแฝงไม่ได้ เพราะนั่นย่อมไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นไปที่แท้จริง
คสช.ต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งขณะนี้ไม่ได้หายไปไหน "คนไทย" ไม่ได้รักกันมากขึ้น หากแต่ความขัดแย้ง และความไม่เห็นด้วยถูกเก็บกักเอาไว้ด้วยความกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จ และพร้อมจะรอวันปะทุ หากการแก้ปัญหายังไม่ถูกจุด
ท่าทีต่อผู้ที่เห็นต่างต้องมีความนุ่มนวลกว่านี้ มิใช่ใช้ถ้อยคำว่าร้ายว่าเป็นผู้ไม่รักชาติ และผลักดันให้เขาตกอยู่ในสภาพผู้ที่ไม่ต้องการจาก "รัฐไทย" เพราะที่ผ่านมาเราก็ใช้วิธีนี้ในการต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด จนสุดท้ายกลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อจนถึงทุกวันนี้
คสช.ต้องยอมรับความมีอยู่ของความขัดแย้ง และเข้าใจต้นเหตุแห่งปัญหา การมุ่งหวังที่จะให้ทุกคนคิดเหมือนกันด้วยวิธีนั้นมิใช่วิธีที่ถูกต้อง และไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในสังคมมนุษย์ หากแต่คนเห็นต่างต้องถูกยอมรับและถูกปฏิบัติอย่างมีเกียรติและเคารพในความคิด
ทุกคนรู้ว่าการเข้ามาทำงานครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเลือกที่จะเข้ามาแล้วก็มีแต่ต้องเดินหน้าให้สำเร็จ มิเช่นนั้นก็จะซ้ำรอยปี 2549 ซึ่งแทนที่จะแก้ปัญหากลับตอกลิ่มความแตกร้าวให้หนักยิ่งขึ้น
-------------------------------------
(หมายเหตุ : ปัญหาใต้พรม : ขยายปมร้อน สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ)