
ปรับวิธีการจับกุม
ปรับวิธีการจับกุม : บทบรรณาธิการประจำวันที่6ส.ค.2557
บทเรียนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางชัน ที่พยายามขอเข้าตรวจค้นรถผู้ต้องสงสัยหรือจะเป็นการสกัดจับคนร้าย จนเกิดการเข้าใจผิดมีการใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ในเขตชุมชนเพื่อสกัดเส้นทางหลบหนีไม่ใช่เกิดกับนิสิตสาวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นข่าวบ้างปิดข่าวกันบ้าง เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่น้อย ที่จำกันได้ก็กรณี "น้องฟลุค" ที่เสียชีวิตหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเข้าใส่รถต้องสงสัย กรณีของนิสิตสาวยังโชคดีที่ไม่ได้รับอันตรายจากคมกระสุน เหตุเพราะต้องสงสัยว่ารถที่ขับมานั้นอาจเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดตามที่สายรายงานมาให้เท่านั้น เนื่องจากบ้านของเหยื่ออยู่ใกล้กับชุมชนเป้าหมายทำให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบยาเสพติดต้องออกมาขอโทษและชดใช้ความเสียหายเป็นการเยียวยาพร้อมกับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความชัดเจน จึงย้ายตำรวจทั้งสามนายออกจากพื้นที่ทันที
ประเด็นของเรื่องคงไม่ได้จบเพียงเท่านี้เพราะการจับกุมคนร้ายหรือการสกัดจับเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่ต้องได้รับการฝึกทบทวนอยู่เป็นประจำ การใช้อาวุธปืนในเขตชุมชนก็เช่นกันมีโอกาสเสี่ยงที่ชาวบ้านจะโดนลูกหลงสูงเหมือนเช่นกรณี "น้องฟลุค" การติดตามจับกุมคนร้ายนั้นต้องมีความชัดเจนโดยเฉพาะคดีสำคัญมีความร้ายแรงต้องอนุมานไว้เลยว่าคนร้ายจะต้องต่อสู้และเมื่อเป็นเช่นนั้นเจ้าหน้าที่มีแผนอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อหากมีการยิงต่อสู้กันขึ้น ในแง่การข่าวต้องมีความชัดเจนหรือที่เรียกว่าเกาะติดกันมา ไม่ใช่รับแจ้งเพียงเบาะแสแล้วคิดเอาเองว่าเป็นผู้ต้องสงสัย สิ่งสำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงที่จะใช้อาวุธกับเป้าหมายเลือนรางคือไม่รู้ว่าเป้าหมายภายในรถหรือจุดที่เข้าตรวจค้นมีอะไรอยู่บ้าง
กรณีของนิสิตสาวผู้นี้นอกจากได้รับการเยียวยาทางด้านวัตถุแล้ว สภาพจิตใจก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะประสบการณ์เลวร้ายแบบนี้ยากที่จะลืมได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันชาวบ้านที่เผชิญกับเหตุการณ์ในวันนั้นคงกระทบกับความรู้สึกด้วยเช่นกัน ความไม่รอบคอบทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบเพิ่มขึ้นกับองค์กรตำรวจโดยรวม ความไม่ไว้วางใจ กระทบต่อความน่าเชื่อถือหากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจค้น ทั้งยุทธวิธี ระเบียบปฏิบัติในการจับกุมคนร้าย เข้าตรวจค้น ต้องมีความชัดเจน ที่ผ่านมาจะพบข้อบกพร่องเกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานการดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย มีนักโทษไม่น้อยที่ต้องติดคุกทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิด เหล่านี้ล้วนเกิดจากความประมาท ไม่รอบคอบ ลุแก่อำนาจ หากเริ่มต้นไม่โปร่งใสตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ แล้ว ความน่าเชื่อถือต่อต้นธารกระบวนการยุติธรรมจะเกิดได้อย่างไร