คอลัมนิสต์

ความตั้งใจดีกับความถูกต้อง

ความตั้งใจดีกับความถูกต้อง

05 ส.ค. 2557

ความตั้งใจดีกับความถูกต้อง : ขยายปมร้อน โดยศรุติ ศรุตา

              คงต้องเรียกว่า เป็นความท้าทายทางกฎหมายครั้งแรก สำหรับ คสช. ภายหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

              ศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

              ศรีสุวรรณ อ้างถึงเหตุที่ต้องมายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เนื่องจากการแต่งตั้ง สนช.ครั้งนี้ขาดความหลากหลาย แม้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 7 จะบัญญัติเอาไว้ว่า ให้คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ในภาครัฐ เอกชน สังคม วิชาการ วิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่

              ผลการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นอย่างไรก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เนื้อหาที่ ศรีสุวรรณ ได้ยื่นเรื่องไป เพราะทั้ง พรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็น สนช. ก็เป็นหนึ่งในผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ก็ไปรายงานตัวเป็น สนช.เมื่อวันอาทิตย์ ก็เป็นอดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

              ประเด็นน่าจะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่ประจักษ์นั้นมากกว่า !

              จริงอยู่ คสช.คงจะมุ่งเน้นตั้งคนที่เข้าอกเข้าใจ คสช. และทำตามสิ่งที่ คสช.มุ่งหวังเป็นหลัก

              แต่มันก็น่าคิดว่า จะเป็นการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกหรือไม่

              และถ้าใช่ ปัญหาอื่นก็จะตามมาให้ได้แก้ไขกันอีก

              แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คสช.เองจะหมดหนทางเสียทีเดียว

              เพราะอย่างน้อยๆ ก็ยังมีโควตาอีก 20 คน ที่ยังไม่ได้แต่งตั้ง บวกกับอีก 2 ที่ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และ จุฬาราชมนตรี ได้ขอลาออกไปด้วย เพราะคุณสมบัติไม่เข้าตามกฎหมาย

              แต่หากจะเดินหน้าต่อ ด้วยเพราะกำหนดวัน-เวลานั้น ถูกวางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว หากเปลี่ยนแปลงที่มีอะไรมาทำให้สะดุด ก็อาจจะล่าช้าไปกว่าที่แผนได้วางเอาไว้

              จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อ ก็ต้องรอดูผลจากการทำหน้าที่ของ สนช.ว่าผลจะออกมาอย่างไร

              ผลจากการทำงานของ สนช.จะสะท้อนความน่าเชื่อถือที่มีอยู่ และจะฉายภาพความเชื่อมั่นในอนาคตที่ประชาชนมีต่อ สนช.

              ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะบ่งชี้ให้เห็นถึงตัว คสช.เองด้วย

              ในทุกวันนี้ การทำงานของ คสช.นั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

              รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้ามาใช้อำนาจอย่างชอบธรรม เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

              แต่เมื่อใช้อำนาจแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับไม่สะท้อนภาพความชอบธรรมนั้นออกมา โดยเฉพาะกรณีโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เพิ่งจะส่งสำนวนคดีอาญาให้อัยการสูงสุดดำเนินคดียิ่งลักษณ์

              ขณะที่ คสช.ที่เข้ามาบริหารประเทศกว่า 2 เดือนนั้น ไม่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อบริหารประเทศแล้ว กลับได้รับการยอมรับจากประชาชน รวมทั้งต่างประเทศในบางส่วน

              แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ความรู้สึกแบบนั้นจะมั่นคงถาวร จนเป็นเครื่องการันตีให้ได้ทั้งหมดและตลอดไป

              ท่ามกลางความเปราะบางของสังคมไทยที่มักจะอ่อนไหวราวฝูงนกขี้ตกใจ เพราะความกลัว แต่หากตัวใดตัวหนึ่งเกิดสะดุ้งร้องเสียงดังขึ้นมา ก็จะพากันตะเบ็งเสียงกันไปหมดจนไม่รู้ใครเป็นใคร

              ความท้าทายของ สนช.ก็คือ ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

              ทุกสิ่งที่ปรากฏนั้นจะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ที่จะประเมินสถานการณ์ทุกครั้งเมื่อมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น

              ต้องไม่ลืมว่า การเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งครอบครัว เพื่ออวยพรวันคล้ายวันเกิดนั้น ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ "รอการพิสูจน์" ว่า สิ่งที่ได้ให้คำมั่นต่อ คสช.นั้น จะได้รับการรักษาได้อย่างที่ คสช.มั่นใจหรือไม่

              ความตั้งใจดีกับความถูกต้องควรจะต้องเดินไปด้วยกัน !


......................

(หมายเหตุ : ความตั้งใจดีกับความถูกต้อง : ขยายปมร้อน โดยศรุติ ศรุตา)