
อำนาจถอดถอนนักการเมืองกับความปรองดอง
อำนาจถอดถอนนักการเมืองกับความปรองดอง : ขยายปมร้อน โดยขนิษฐา เทพจร
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงหนึ่งเกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดใหม่ ต่อการพิจารณาถอดถอนอดีตสมาชิกรัฐสภา ได้แก่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ” - “สมศักดิ์เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา” - “นิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา” - อดีต ส.ว.จำนวน 36 คน ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดต่างกรรม แต่มีสาระหลักคือ จงใจใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ในวาระดำรงตำแหน่ง สนช.57 ได้หรือไม่
ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การพิจารณาถอดถอนบุคคลให้ออกจากตำแหน่งทั้ง 4 เรื่องนั้น ยังอยู่ในสารบบของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่คาดว่าจะได้รับบทบาทให้เป็นฝ่ายเลขาธิการ สนช. แต่การหยิบยกมาพิจารณายังไม่มีผู้ใดยืนยันชัดเจนว่า สนช.มีอำนาจหรือไม่ แม้กระทั่ง “เลขาธิการวุฒิสภา นรรัตน์ พิมเสน” ยังระบุแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ต้องรอพิจารณาข้อกฎหมายและขึ้นอยู่กับประธาน สนช. โดยงานที่ค้างในสารบบต้องนำเสนอให้พิจารณา”
ความหมายของ “รอพิจารณาข้อกฎหมาย” นั้น หัวใจของเรื่องคือ ต้องพิจารณากติกา-เกณฑ์ถอดถอนใหม่ แทนของเก่า ซึ่งกำหนดใน มาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญ 2557 ถูกยกเลิกไป
แม้จะมีผู้ให้ความเห็นในหลักการว่า สนช.ใหม่มีอำนาจถอดถอนได้ พร้อมยกกรณี สนช.50 ที่เคยพิจารณา-ลงมติปลด “จรัล ดิษฐาอภิชัย” จากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังวางตัวไม่เหมาะสม เพราะเป็นแกนนำพามวลชนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ต่อต้านคณะรัฐประหารและบุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเมื่อ 22 กรกฎาคม 2550
หากย้อนความรอบนั้น จะพบว่า ตัวแทน สนช.ได้ลงชื่อยื่นญัตติถอดถอนเข้าสู่สภา โดยใช้อำนาจและสิทธิตามพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 มาตรา 11 ที่ระบุให้ส.ส.หรือส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่เข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาเพื่อถอดถอนกรรมการสิทธิ์ออกจากตำแหน่งหากพบการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง, ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม พร้อมกับระบุเกณฑ์ถอดถอนให้ใช้มติไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ของวุฒิสภา โดยบทบัญญัติดังกล่าวนั้นเสมือนเป็นเกณฑ์กำหนดให้อำนาจ สนช.50 ฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ยึดเป็นแนวทาง
อย่างไรก็ตามปมถอดถอน “จรัล” รอบนั้น ยังมีข้อถกเถียงถึงอำนาจโดยชอบของ สนช. ซึ่งได้รับคำอธิบายจาก “คำนูณ สิทธิสมาน สนช.50” ฐานะผู้ยื่นญัตติฯ ตามรายงานบันทึกการประชุม สนช. ครั้งที่ 43 วันที่ 9 สิงหาคม 2550 ว่า กรรมการสิทธิฯ ได้ยอมรับอำนาจของ สนช.แล้วโดยดูได้จากการส่งรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2546 และอื่นๆ ให้สภาพิจารณา อีกทั้งการพิจารณาถอดถอนถือเป็นกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องตรวจสอบและคานอำนาจ เพราะวุฒิสภาเป็นผู้ตั้งกรรมการสิทธิ์ฯ ขึ้นมา
ทั้งหมดจึงประกอบเป็นเหตุผลให้ “การถอดถอนจรัล” เกิดขึ้นในที่ประชุม สนช.ยุคนั้น
ในภาคปัจจุบัน เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นหลักเกณฑ์-ขั้นตอนถอดถอนสิ้นสภาพไป อีกทั้งรัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบันไม่มีข้อบัญญัติในกระบวนการถอดถอน แต่ภาคปฏิบัติจริงๆ ยังไม่สิ้นไปเสียทีเดียว เพราะใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ที่ยังมีผลบังคับใช้ ได้กำหนดขั้นตอน-เกณฑ์คะแนนถอดถอน ไว้ในมาตรา 65
ทำให้ไร้ข้อกังขาหาก สนช.57จะเสนอญัตติให้นำเรื่องถอดถอนเข้าสู่การพิจารณา และทิศทางลงคะแนนจากโฉมหน้า สนช.57 บุคคลที่ถูกชี้มูลย่อมยากที่จะรอด แต่ในบริบทการเมืองที่ละเอียดอ่อนในแง่ความปรองดองกับนักการเมือง ที่ขณะนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.” ต้องการประคองระดับไว้ จึงเป็นจุดสำคัญที่ สนช.57 พึงพิจารณามากไปกว่าข้อกฎหมาย
---------------------------------------------------------------------
(หมายเหตุ : อำนาจถอดถอนนักการเมืองกับความปรองดอง : ขยายปมร้อน โดยขนิษฐา เทพจร)