
คสช.บนหนทางที่ท้าทาย
คสช.บนหนทางที่ท้าทาย : บทบรรณาธิการประจำวันที่2ส.ค.2557
สังคมให้ความคาดหวังอย่างยิ่งกับการเดินหน้าตามโรดแม็พระยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คน โดยจะมีการประชุมรัฐสภานัดแรกในวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อเลือกประธาน สนช. ก่อนจะเข้าขั้นตอนการเลือกผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศชั่วคราวก่อนการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังตั้งไข่เพื่อดำเนินการจัดทำคู่ขนานกับการทำงานของ สนช.ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ท่ามกลางปัญหาของประเทศที่อีกหลายอย่างจะต้องรีบแก้ไข ทั้งทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างน่าเป็นห่วง โดยต้องเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติให้ฟื้นกลับคืนมาโดยเร็ว
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราตกอยู่ในความวุ่นวายจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ความขัดแย้ง การชุมนุม ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป นำไปสู่การใช้ความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงครามต่อกัน ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บบ้างล้มตายเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย ขณะที่ผู้บริหารประเทศยึดคัมภีร์ประชาธิปไตย แต่ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในหลายระดับจนน่าตกใจ นักการเมืองขาดคุณธรรม จริยธรรม คิดแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องสำคัญกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และนำไปสู่การรัฐประหารของ คสช.ในที่สุด
ในเมื่อคนเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด การแก้ไขปัญหาก็ต้องเริ่มจากคนก่อน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้เรียกร้องเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ "แต่ละฝ่ายต้องไว้วางใจซึ่งกันและกันถึงจะทำอะไรต่อไปได้ ถ้าทุกคนคิดว่า คสช.ต้องการใช้อำนาจหรือต้องการผลประโยชน์ คสช.ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งรัฐบาล แต่เราต้องการให้การปฏิรูปดำเนินการไปได้ โดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าใครยังไม่ร่วมกันปฏิรูปเมื่อถึงเวลาที่เขาทำกันเสร็จเรียบร้อยจะมาปฏิเสธความรับผิดชอบว่าท่านไม่รู้เรื่องไม่ได้ วันนี้ขอร้องอย่าเพิ่งพูดเรื่องประชาธิปไตยเพราะตอนมีอำนาจก็ไม่ยอมทำอะไร ครั้งนี้ควรจะเอาตัวออกจากปัญหาและร่วมพัฒนาชาติจะดีกว่า"
แต่กระนั้นภาพรวมของ สนช.ที่ประกอบไปด้วยทหารถึง 105 นาย จึงถูกวิพากษ์และจับตาอย่างมากถึงการทำงานในอนาคตว่าจะเป็นหุ่นเชิดให้ คสช.ในการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ให้พวกพ้องอีกหรือไม่ บางคนคาดเดาไปไกลถึงคณะรัฐมนตรีและสปช. ซึ่งอาจจะเต็มไปด้วยคนในเครื่องแบบหรือสารพัดสี แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ยังมีตัวแทนจากภาคประชาชน ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรอิสระ อดีตนักการเมือง เป็นต้น สร้างความหลากหลายบนเวที สนช.ได้บ้าง รวมไปถึงองค์กรตรวจสอบที่อยู่นอกเวที รวมทั้งสื่อมวลชน ก็ต้องจับตาดูการทำงานขององคาพยพเหล่านี้ ขณะเดียวกันหัวหน้า คสช.ก็ต้องยืนหยัดในจุดยืนตัวเองและทำให้เห็นชัดว่า การเข้ามาของ คสช.นั้นเพื่อคืนความสุขและประชาธิปไตยให้แก่คนในชาติอย่างแท้จริง