คอลัมนิสต์

วรรณกรรม'หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วรรณกรรม'หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

                เมื่อปี 2548 ผมออกอาการโหนกระแสเรียลิตี้เกมโชว์ บิ๊ก บราเธอร์ เพราะมันเป็นการนำเอา "คนธรรมดา" มาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ที่มีกล้องทีวีติดตามดูพฤติกรรมตลอด 24 ชั่วโมง

                ผมจำได้ในปีนั้น "หนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง" จากแม่กลอง คือแรงจูงใจที่ทำให้ผมเฝ้าดูเกมโชว์ บิ๊ก บราเธอร์ จนถึงวันสุดท้าย

                ที่มากไปกว่านั้น ผมทราบมาว่า นวนิยายเรื่อง 1984 หรือ Nineteen Eighty-four ของ จอร์จ ออร์เวลล์ คือแรงบันดาลใจของทีมงานผู้ผลิตรายการทีวีแห่งเนเธอร์แลนด์ ออกแบบรายการเกมโชว์จากชีวิต ชื่อ บิ๊ก บราเธอร์ โดยออกอากาศครั้งแรกในปี 1999 และแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก

                คอวรรณกรรมไทย คงคุ้นเคยกับนวนิยายเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์

                "อาคารสูงเจ็ดชั้น วินสตัน ผู้ซึ่งอายุสามสิบเก้า และมีแผลบวมเฟะเหนือข้อเท้าขวา เดินขึ้นบันไดอย่างเชื่องช้า หยุดพักระหว่างทางหลายครั้ง เหนือที่พักบันไดแต่ละชั้นซึ่งอยู่ตรงข้ามลิฟต์ โปสเตอร์บรรจุใบหน้ามหึมาจะจับตามองออกมาจากผนัง มันเป็นเพียงหนึ่งในบรรดารูปภาพทั้งหลายที่ประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างประณีต

                เพื่อให้ดวงตานั้นมองตามคุณทุกย่างก้าวที่เคลื่อนไหว ใต้รูปปรากฏข้อความว่า 'พี่เบิ้ม กำลังจับตามองคุณ'..."

                นี่คือวรรคทอง "Big Brother is Watching You" หรือ "พี่เบิ้ม กำลังจับตามองคุณ"

                นิยายเรื่อง "หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่" ที่เขียนขึ้นโดย จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ และตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1949 และยังเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในปี ค.ศ.1984

                ผู้เขียนจินตนาการถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทวีปโอเชียเนีย ณ โอเชียเนียนั้นปกครองโดย "พรรค" และสิ่งที่ครอบงำโอเชียเนียไว้ก็คือผู้นำสูงสุดของพรรคที่รู้จักกันในนาม บิ๊ก บราเธอร์

                นวนิยายเรื่อง 1984 บรรยายสภาพสังคม ที่มีดวงตาของพี่เบิ้ม จับจ้องทุกการกระทำและความคิดของผู้คนให้เป็นไปในระบบระเบียบอันเป็นคุณแก่พรรค

                กล่าวสำหรับเมืองไทย นวนิยาย 1984 แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยครั้งแรก โดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กอไผ่ ปี 2525

                "ผู้แปลเริ่มลงมือทำงานชิ้นนี้เมื่อห้าปีที่แล้ว คือตั้งแต่กลาง พ.ศ.2520 ในสมัยของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งปกครองประเทศโดยใช้จอโทรทัศน์ปลุกใจให้คำขวัญเพื่อความอยู่รอดของชาติ การใส่ร้ายป้ายสีจับผิด ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปรากฏครอบคลุมอยู่ทั่วไป ดังเช่นที่เกิดขึ้นในโอเชียเนีย ยุค ค.ศ.1984

                "นัยของโลกการเมือง ที่จอร์จ ออร์เวลล์ จินตนาการขึ้นเมื่อปี 1984 จึงสอดคล้องใกล้เคียงกับโลกการเมืองของไทยสมัย พ.ศ.2520 เป็นอย่างยิ่ง.."

                ดังที่ทราบกัน วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้มีคณะนายทหารทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช และตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ที่มีธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี และสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งรัฐบาลพลเรือนใต้เงาปืน ได้ใช้อำนาจควบคุมประชาชนอย่างเต็มที่

                หลังจากคณะนายทหารชุดเดิม ทำรัฐประหารซ้ำ และเปิดโอกาสให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมมีการตั้งรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งผสมแต่งตั้ง หรือที่สื่อมวลชนเรียกขานว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" สำนักพิมพ์กอไผ่ จึงได้จัดพิมพ์นวนิยาย 1984 เป็นภาษาไทยครั้งแรก

                นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องดังกล่าว ผู้เขียนจงใจใช้หนังสือเรื่อง "ทฤษฎีและภาคปฏิบัติของลัทธิคณาธิปไตยรวมหมู่" โดย เอ็มมานูเอล โกลด์สไตน์ เสียดเย้ยการใช้อำนาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างแสบสันต์

                "พี่เบิ้มผู้ไม่รู้จักผิดพลาดและมีอำนาจครอบคลุมไปทั่ว ความสำเร็จทุกชนิด ผลได้ทุกอย่าง ชัยชนะทุกครั้ง การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ทุกประเภท ความรู้ทั้งมวล ความเฉลียวฉลาดทั้งหลาย ความสุขทั้งหมด ความดีงามทั้งสิ้น ถูกถือว่าล้วนมาจากการนำ และแรงบันดาลใจของพี่เบิ้มโดยตรง

                ไม่มีใครเคยเห็นพี่เบิ้ม เขาคือใบหน้าบนป้ายประกาศ คือเสียงในโทรภาพ เราเองมีเหตุผลที่พอจะแน่ใจได้ว่าพี่เบิ้มไม่มีวันตาย"

                พี่เบิ้มไม่มีวันตาย..ถ้อยวลีนี้ คนไทยเกินล้านคงคุ้นเคย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ