
'โมดี'ว่าที่นายกฯอินเดียของจริงหรือแค่ราคาคุย?
'โมดี'ว่าที่นายกฯอินเดียของจริงหรือแค่ราคาคุย? : กระดานความคิด โดยรุสตั้ม หวันสู นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีก้าร์ ประเทศอินเดีย
การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) ของประเทศอินเดียปีพ.ศ. 2557 ที่ดำเนินการเลือกตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน - 12 พฤษภาคม รวมระยะเวลากว่า 1 เดือน 5 วัน ใน 28 รัฐ 7 ดินแดนสหภาพ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 800 ล้านคน และหน่วยเลือกตั้งกว่า 930,000 หน่วย ใช้เจ้าหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งกว่า 10 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละ 66.38 หรือกว่า 540 ล้านคน
การเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรครัฐบาลเดิมคือ พรรคคองเกรส (INC) พรรคเก่าแก่ที่นำโดยนายราหุล คานธี ภายใต้กลุ่มการเมืองที่มีชื่อว่า "สหพันธมิตรก้าวหน้า" (UPA)
โดยมีผู้ท้าชิงในการเลือกตั้งในปีนี้คือ พรรคภารติยา จานาทา (Bharatiya Janata Party) หรือบีเจพี นำโดยนายนเรนทรา โมดี ภายใต้กลุ่มการเมืองที่มีชื่อว่า "พันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ" (NDA) เป็นการเลือกตั้งเพื่อชิงเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 543 ที่นั่ง
ภายหลังการนับคะแนนในวันที่ 16 พฤษภาคม ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า
กลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) ได้ที่นั่ง 337 จาก 543 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2552 กว่า 180 ที่นั่ง โดยมีพรรคแกนนำคือพรรคบีเจพีที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายกวาดไปได้ 283 ที่นั่ง
กลุ่มสหพันธมิตรก้าวหน้า (UPA) แพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบโดยได้ที่นั่งเพียง 59 จาก 543 ที่นั่ง ลดลงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนกว่า 203 ที่ันั่ง โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคคองเกรส (INC) ได้ที่นั่งน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 43 ที่นั่ง
พรรคน้องใหม่ที่เหมือนจะมาแรงช่วงก่อนการเลือกตั้งอย่างพรรค Aam Admi Party (AAP) ผิดหวังกับผลการเลือกตั้งที่ได้เพียง 4 ที่นั่ง
ส่วนพรรคอื่นๆได้ที่นั่งรวมในการเลือกตั้งครั้งนี้ 144 ที่นั่ง โดยมีพรรคขนาดกลางที่โดดเด่นอย่างพรรค All India Trinamool Congress (AITP) ที่ได้ไป 34 ที่นั่ง นอกจากนั้นพรรคการเมืองภูมิภาคอย่างพรรคบีจู จานาทา ดาล (Biju Janata Dal; BJD) ที่มีฐานเสียงในรัฐโอริสสาก็ได้คะแนนจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ถึง 20 ที่นั่ง ส่วนพรรคสามาจวาดี (Samajwadi Party;SP) ที่มีในฐานเสียงในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดคือรัฐอุตรประเทศ ได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งในครั้งนี้เพียง 5 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคบีเจพีของนายโมดี กวาดที่นั่งในรัฐนี้ได้ถึง 71 จาก 80 ที่นั่ง
ปัจจัยที่ทำให้พรรคคองเกรสแพ้ราบคาบในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น 1) ประชาชนเบื่อหน่ายกับระบนสืบทอดอำนาจภายในตระกูลของผู้นำ 2)ปัญหาข้าวของแพง 3)ปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น 4)ปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นโดยรัฐไม่อาจจัดการได้
ทำให้คนเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคบีเจพี ที่แม้จะมีนโยบายชาตินิยมฮินดูขวาจัด แต่หัวหน้าพรรคคือนายนเรนทรา โมดี มีผลงานโดดเด่นด้านเศรษฐกิจ จากการที่เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐกุชราต เขาพัฒนารัฐให้กลายเป็นรัฐที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานอันดับต้นๆของประเทศ จนผู้คนกล่าวขานกันเรื่อง "Gujrat model" และหวังว่านายโมดีจะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษญกิจของชาติให้รุ่งเรือง
อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดปรากฎการณ์ใหม่ของการเมืองอินเดียเมื่อพรรคบีเจพีทุ่มเงินซื้อสื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเวลาเดินทางไปเมืองหลวงคือเมืองนิวเดลี จะเห็นว่าพรรคบีเจพีลงทุนกับการหาเสียงเยอะมาก เห็นป้ายหาเสียงรูปหน้าโมดีเต็มไปหมด ลองสำรวจดูคร่าวๆ 6 ใน 10 ป้ายจะเป็นของพรรคบีเจพี เวลาถามคนอินเดียในเดลีว่าเลือกพรรคไหน 7 ใน 10 ตอบว่าเลือกพรรค บีเจพี (ผลการเลือกตั้งปรากฎว่าพรรคบีเจพีกวาดที่นั่งในเดลีได้ทั้ง 7 ที่นั่ง) จะเห็นได้ว่ากระแสพรรคบีเจพีในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่แรงจนฉุดไม่อยู่ เป็นเพราะผู้คนเบื่อหน่ายในพรรคคองเกรส จึงให้โอกาสพรรคบีเจพีมาเป็นรัฐบาล
อย่างไรก็ตามชัยชนะอย่างถล่มทลายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือนายนเรนทรา โมดี
ด้านหนึ่ง...คือการแบกภาระอันใหญ่หลวง ความเชื่อมั่นและความหวังคนอินเดียที่วาดฝันให้นายโมดีและพรรคบีเจพีแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมและการคอรัปชั่น นำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ดั่งที่ชาวอินเดียให้ความเชื่อมั่นในตัวเขา
ในอีกด้านหนึ่ง...คือมาตรวัดที่ทำให้พรรคเก่าแก่อย่างพรรคคองเกรสต้องหันมามองข้อผิดพลาดของตัวเอง เพื่อปฏิรูปพรรค ผลการเลือกตั้งคงบอกอะไรได้หลายๆอย่าง โดยเฉพาะระบบการสืบอำนาจในครอบครัวที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดแข็งเพราะคนนิยมชมชอบตระกูลคานธีที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งประเทศภายหลังได้เอกราชจากประเทศอังกฤษ...ในวันนี้กลายเป็นจุดอ่อนในเมื่อลูกหลานตระกูลคานธีในยุคปัจจุบันอาจไม่มีทั้งความสามารถและบารมีเพียงพอในทางการเมืองในการชิงชัยกับผู้ท้าชิงเขี้ยวลากดินอดีตเด็กขายชาผู้ยากจนอย่างนายโมดี ถึงเวลาแล้วที่พรรคคองเกรสต้องยอมรับการวัดคนด้วยความสามารถ ใช่เพียงแต่บุญเก่าดังที่เคยเป็น
อย่างไรก็ตามผลงานต่อจากนี้ของนายโมดีจะเป็นตัวชี้วัดว่า...นายโมดีนั้นของจริง...หรือแค่ราคาคุย คงต้องติดตามกันต่อไป