คอลัมนิสต์

 หนังเก่าฉายใหม่'แผลใจปชป.'

หนังเก่าฉายใหม่'แผลใจปชป.'

13 มี.ค. 2557

หนังเก่าฉายใหม่'แผลใจปชป.' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

           ต้องเขียนถึงตระกูล "ศรีวิกรม์" อีกครั้ง เพราะมีบางเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ และมีบางข้อมูลที่ผิดพลาด

           ข้อมูลที่ว่าผิดพลาดนั้นคือ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 4 (พระโขนง) เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2529 ผลปรากฏว่า สอบได้พร้อมกับ พิชัย รัตตกุล ส.ส.เก่าเจ้าของสนามนี้มาตั้งแต่ปี 2518

           "เฉลิมพันธ์" จึงเป็น ส.ส.สมัยแรกที่กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ และสมัยที่ 2 ในสนามโคราช ในนามพรรคประชาชน

           เขต 4 (พระโขนง) เป็นสมรภูมิการเมืองของตระกูลศรีวิกรม์ มาตั้งแต่ปี 2518 และ พ.ศ.โน้น มารดาของ "ทยา ทีปสุวรรณ" ก้าวสู่สังเวียนเลือกตั้งครั้งแรก

           ก่อนจะมาเป็น "คุณหญิงอ๋อย" หรือ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ นั้น มีนามสกุลเดิมว่า "วุฑฒินันท์" เป็นบุตรีของ พ.ต.อ.สวงศ์ วุฑฒินันท์ กับประกอบกูล อภัยวงศ์

           คุณตาของคุณหญิงศศิมาคือ พระยาอภัยภูเบศร ซึ่งในวงการเมืองทราบดีว่า ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรกเป็นทายาทของพระยาอภัยภูเบศร แต่ตอนที่คุณหญิงศศิมาเล่นการเมือง กลับไม่เลือกลงสนามเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์

           หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ประชาธิปไตยบานสะพรั่ง พรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด และพงส์ สารสิน เพื่อนของคุณหญิงอ๋อยมาชักชวนให้ไปอยู่พรรคกิจสังคม ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

           พรรคกิจสังคม พ.ศ.โน้นคือศูนย์รวมของกลุ่มทุนใหม่ และที่สุด คุณหญิงศศิมาตัดสินใจเล่นการเมืองครั้งในชีวิต ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคกิจสังคม โดยรับหน้าที่เป็นรองเลขาธิการพรรค

           ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2518 คุณหญิงศศิมา ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตพระโขนง แต่ผลออกมาแพ้ พิชัย รัตตกุล ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ชนิดฉิวเฉียด

           "ผลออกมาแพ้ ปชป.เพียง 200 กว่าคะแนน ซึ่งเราฟ้องว่ามีการโกงเลือกตั้งเพราะตอนที่รวมคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งปรากฏว่าเราชนะ 900 กว่าคะแนน แต่พอไปถึง กทม.กลับกลายเป็นว่าเราแพ้ แต่การฟ้องไม่เป็นผล แต่เราต้องการให้รู้ว่าเราไม่ใช่จะยอมแพ้แบบติ๋มๆ ตัวเองก็ยังดีใจว่าลงครั้งแรกยังได้คะแนนมากขนาดนี้ ก็มีกำลังใจ" คุณหญิงศศิมาให้สัมภาษณ์นิตยสารผู้จัดการรายเดือน ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2530

           การเลือกตั้งทั่วไปปี 2519 คุณหญิงศศิมา ลงเขตเดิมคือเขตพระโขนง แข่งกับคนเดิม แม้เธอจะค่อนข้างมั่นใจ แต่ก็พ่ายแพ้ไปพันกว่าคะแนน

           บนถนนการเมือง ดูเหมือนคุณหญิงศศิมาจะไม่ค่อยมีโชคนัก แม้การเลือกตั้งปี 2531 เธอจะกลับมาลงสมัคร ส.ส.เขตพระโขนง ในสีเสื้อพรรคประชาชน ก็ยังสอบตกอีกครั้งจนได้

           สำหรับ "เฉลิมพันธ์" นั้นชอบพรรค ปชป.มานานแล้ว แถมยังชักชวนให้คุณหญิงอ๋อยเข้า ปชป.ตอนแพ้เลือกตั้งปี 2518

           พอคุณหญิงศศิมาวางมือ "เฉลิมพันธ์" จึงเข้าพรรค ปชป. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเวลานั้น พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค และเฉลิมพันธ์ เป็นเลขาธิการของพรรค

           ปี 2529 เฉลิมพันธ์ เป็น ส.ส.กทม. และเป็นรองหัวหน้าพรรค หลังจากเป็นรัฐบาลใต้บัลลังก์เปรมมา 2 สมัย การต่อสู้ชิงอำนาจภายใน ปชป. ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ระหว่าง "กลุ่ม 10 มกรา" โดยการนำของเฉลิมพันธ์ กับ "กลุ่มสะตอสามัคคี" ที่หนุนพิชัย รัตตกุล 

           ขุนศึกฝ่ายเฉลิมพันธ์คือ วีระ มุสิกพงศ์ ส่วนหัวหมู่ทะลวงฟันฝ่ายพิชัยก็มี สุเทพ เทือกสุบรรณ ยืนแถวหน้า โดย ชวน หลีกภัย เป็นกองหนุน

           สุดท้ายฝ่ายเฉลิมพันธ์พ่าย ต้องยกพวกออกไปตั้ง "พรรคประชาชน" และเฉลิมพันธ์ ก็ย้ายสนามไปลงสมัคร ส.ส.ที่นครราชสีมา ตามคำชักชวนของเลิศ หงษ์ภักดี อดีต ส.ส.นครราชสีมา (เลิศเป็นบิดาของระนองรักษ์ และเป็นพ่อตาของไพโรจน์ สุวรรณฉวี)

           ยิ่งกว่านิยาย เหนือกว่าหนังแฟนตาซี มาถึง พ.ศ.ปัจจุบัน "ลูกสาว-ลูกเขย" ของคุณศศิมา กลายเป็นขุนพลแก้วของ "กำนันสุเทพ"

           แม้หลายคนพยายามจะโยงเรื่องอดีตมาผูกกับปัจจุบัน แต่คนที่รู้จักตระกูลศรีวิกรม์ เชื่อว่าพวกเขาลืมเรื่องราวแต่หนหลังไปแล้ว นับแต่วันที่ "ลูกเขย" เข้าสู่อ้อมอก ปชป. และเป็นสายตรงกำนันคนดังแห่งท่าสะท้อน

           วรรคทองของนักเลือกตั้งที่ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ยังมีอยู่จริงและสะท้อนว่า การเมืองคือมายา ข้าวปลา(ผลประโยชน์)คือของจริง