
บางมุมมองนักศึกษาปี4VSการฝึกงานยุคใหม่
บางมุมมองนักศึกษาปี4VSการฝึกงานยุคใหม่ : กระดานความคิด โดยไพศาล อินทสิงห์ ม.นเรศวร
ใครที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 4 ปิดเทอมซัมเมอร์ที่จะถึงนี้ คงจะมีภารกิจหนึ่งรออยู่ นั่นคือ การไปฝึกงาน ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งก็คงเกือบทุกหลักสูตร/สาขา หลายคนเลือกไปฝึกในหน่วยงานของรัฐ มีไม่น้อยเลือกไปบริษัทธุรกิจ อยู่ที่ความสนใจ และเห็นว่าตอบโจทย์ของตน
บางแห่งอาจกำหนดให้นักศึกษาฝึกงานในภาค 2/56 หรือกระทั่ง 1/56 ก็เป็นไปได้ เพราะยุคใหม่นี้หลักสูตรมีความหลากหลาย และยังมีการให้เกรดด้วย นั่นก็ว่าไป แต่(อาจ)ไม่สำคัญเท่ากับการให้คุณค่าเนื้อหาการฝึกงาน หรือผลลัพธ์ของการฝึกปฏิบัติงานจริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ นักศึกษาได้อะไรจากการฝึกงาน
มิเพียงได้อะไร แต่หากนักศึกษายุคใหม่จะให้อะไรแก่หน่วยงานที่ไปฝึกงาน(บ้าง) ก็น่าสนใจ และท้าทายไม่น้อย เช่น สร้างผลงานโดดเด่นประทับใจ 1-2 อย่างไว้ให้หน่วยงานได้คิดถึงและชื่นชมหลังจากที่ฝึกงานเสร็จ ฯลฯ ตรงนี้อาจไม่ใช่ไฟลต์บังคับ แต่ใครไปถึงตรงนั้นได้ ก็คงจะดีไม่น้อย
หากทำได้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มการฝึกงานให้กับองค์กรหน่วยงาน อย่างนักศึกษาฝึกงานพีอาร์ ลองหามุมภารกิจใหม่ๆที่ใครๆในองค์กรเขาคาดไม่ถึงว่าจะเป็นประเด็นพีอาร์ภาพลักษณ์องค์กรได้ แต่เราหยิบจับมาเขียนสกู๊ปพิเศษส่งสื่อ(เสนอขอความเห็นชอบต่อองค์กรก่อน)
ปรากฏว่า โดนใจสื่อ สื่อสนใจเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้สกู๊ปนั้นได้รับการพิจารณา และลงพิมพ์เผยแพร่ทางสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ ยังผลให้ประชาชนโฟกัส เป็นที่กล่าวขานถึง และชื่นชมภารกิจใหม่ดังสกู๊ป นำชื่อเสียงศรัทธามาสู่องค์กร
ในทางตรงข้าม ถ้าใครไม่มีมุมมองพีอาร์ ก็จะมองข้ามภารกิจดังกล่าวไป ไม่ได้หยิบจับมาเขียน แทนที่ประชาชนสังคมจะได้รับรู้รู้จัก ก็ไม่ได้ ทำให้ผู้นำองค์กรเสียโอกาสทางการบริหารและการประชาสัมพันธ์อย่างน่าเสียดาย องค์กรมีเสียงชื่นชมย่อมดีกว่าองค์กรเงียบ ฉะนั้น ผู้นำจะคิดถึงและชื่นชมใคร ถ้ามิใช่นักศึกษาฝึกงาน จริงมั๊ย โดยผู้เขียนมองว่า ถ้าทำได้ น่าจะดีไม่น้อย หรือผู้อ่านเห็นอย่างไร
อยู่ที่นักศึกษาปี 4 จะพิจารณา
มูลค่าเพิ่มที่ว่านี้ ดีไม่ดี อาจนำไปสู่การรับนักศึกษาเข้าทำงานเลยหลังฝึกงานเสร็จ ก็เป็นไปได้ เพราะผู้นำเห็นหน่วยก้าน ฝีไม้ลายมือ ฉะนั้น โอกาส(ในการฝึกงาน)เปิด ต้องแสดง(ฝีมือ)
ใช้โอกาส เพื่อสร้างโอกาส อย่าลืมว่า ในยุคใหม่นี้อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ ผู้นำองค์กรหน่วยงานไม่ต้องการคนมีฝีมือเข้ามาร่วมทีมงาน จะให้ต้องการอะไร
ส้มหล่นใส่นักศึกษาเช่นนี้ จะดีหรือไม่ ประการใด โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจ และภาคการจ้างงานมีการแข่งขันสูงดังเช่นปัจจุบัน
คำถาม ก็คือ นักศึกษาเคยถามตัวเองหรือไม่ ว่า เราต้องการอะไร หรือมุ่งหวังเรียนรู้อะไรจากการฝึกงาน และเพื่อเป้าหมายใด หรือว่าไปฝึกเพื่อจะได้เรียนจบครบหลักสูตร
มิเพียงนั้น การไปฝึกงานครั้งนี้ ต้องการคุณภาพการฝึกงานอย่างไร คิดหรือไม่ว่า ตัวเราจะสร้างผลงานอะไรให้องค์กรหน่วยงาน(บ้าง) ?
หรือมองแค่เฉพาะตรงหน้า ว่า ฝึกงาน ก็คือ ฝึกงาน วันแรกแนะนำตัว สร้างความรู้จักคุ้นเคยกับทุกๆคนในหน่วยงาน จากนั้นรอหัวหน้างานมอบหมายงาน มอบอะไร ก็ทำตามนั้น ทำงานนั้นให้สำเร็จ และรับมอบหมายงานอื่นๆต่อไป เป็นการฝึกงานเชิงรูทีน หรืออย่างไร
ฉะนั้น จึงมีบางคำถามชวนคิด บางมุมชวนมอง : จะดีหรือไม่ ประการใด หากใช้โอกาสตรงนี้ทำให้การฝึกงาน เป็นอะไรที่มากกว่าการฝึกงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ มาแชร์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษา และผู้สนใจ 2-3 มุมมอง บางท่านอาจเห็นด้วย เห็นต่าง เห็นเพิ่มจากผู้เขียน ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการฝึกงาน และอนาคตการทำงานจริงไม่มากก็น้อย
มุมมองที่ 1 นักศึกษาควรต้องทำงานที่หัวหน้างานมอบหมายให้ดีที่สุด และแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา การทำงานใดให้แล้วเสร็จ ถือว่าดีแล้ว แต่(อาจ)ยังไม่พอ ยังไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มการฝึกงานให้กับองค์กร ทำอย่างไรนักศึกษาจะปิ๊งไอเดียทำงานที่รับมอบมา 1 แต่ส่งมอบ 2 หรือ 3 จะดีไหม กล่าวคือ ส่งมอบงานที่ทำเสร็จแล้ว 1 + เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ทำอีก 1 + เสนอแนะมุมมองที่ไกลกว่านั้นอีก 1 แม้จะเป็นการเสนอเล็กๆน้อยๆก็ไม่เป็นไร ฝึกทักษะความคิด แต่นั่นสะท้อนให้องค์กรหน่วยงานเห็นถึงหน่วยก้าน ฝีไม้ลายมือ ดังตัวอย่างการเสนอสกู๊ปพิเศษที่กล่าวข้างต้น
ใช้โอกาสตรงนี้ ใช้ทฤษฎีทำงาน ใช้วิชาการทดลองฝึกปฏิบัติ สร้างการเรียนรู้ประสบการณ์วิชาชีพของตนให้ได้มากที่สุด ฝึกคิดเชิงบูรณาการ อ่านให้เป็น อ่านให้ขาด จะเสนอแนะความเห็น ต้องอ่านเป็น และขยายความคิดนอกกรอบ(บ้าง)
คิดเท่าเดิม ได้มูลค่าเท่าเดิม
คิดเพิ่มขึ้น ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น
มุมมองที่ 2 นักศึกษาควรต้องแสวงหาความรู้ เรียนรู้ รู้จักโครงสร้างองค์กรขณะฝึกงานด้วย ดูว่าองค์กรหน่วยงานที่เราเข้าไปฝึกงานนั้น ในภาพรวมประกอบด้วยหน่วยงานภายในอะไรบ้าง กี่ฝ่าย กี่กอง แบ่งเป็นกอง/ฝ่าย/แผนกอะไรบ้าง อย่างไร ทั้งแนวดิ่ง แนวนอน มิใช่รู้เฉพาะภาพย่อย หรือเฉพาะหน่วยงานที่เรานั่งฝึกงานอยู่เท่านั้น จะได้รู้ว่าองค์กรเขาทำอะไรบ้าง มีหน้าที่อย่างไร และรู้ว่าเราอยู่ตรงจุดไหนขององค์กร เป็นหน่วยงานระดับใดขององค์กร สายงานขึ้นกับใคร เป็นต้น เป็นการรู้จักองค์กร รู้เขา รู้เรา ไปอยู่บ้านเขา ไม่รู้เขาก็แย่สิ ที่สำคัญ รู้แล้วจะส่งผลเป็นประโยชน์ไปสู่การประสานงาน ประสานความร่วมมือที่ดี
เป็นนักศึกษาฝึกงานยุคใหม่มีส่วนประสานงาน และร่วมขับเคลื่อนผลักดันงานให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จ ถือเป็นอีกมูลค่าเพิ่มที่น่าสนใจ เช่น ไปฝึกงาน PRโรงแรม แต่เป็น PR and Sale ฯลฯ
มุมมองที่ 3 เป็นโอกาสต่อเนื่องจากมุมมองที่ 2 เรียนรู้การนำองค์กร การบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ผู้นำ เช่น ควรต้องรู้จักปลัดกระทรวงในฐานะผู้นำกระทรวง รู้จักอธิบดีในฐานะผู้นำกรม ชื่ออะไร เบอร์ 2,3,4,..จำไม่ได้ ยังไม่เป็นไร แต่เบอร์ 1 ไม่รู้ไม่ได้ ใครฝึกงานบริษัทธุรกิจ ควรรู้ผู้นำธุรกิจเบอร์ 1 เป็นใคร ตระกูลไหน มีธุรกิจในเครืออะไรบ้าง ประวัติความสำเร็จเป็นมาอย่างไร มีวิสัยทัศน์ หลักการบริหารอย่างไร ศึกษาสไตล์การทำงานของผู้นำ มีนโยบายอะไรบ้าง และสื่อสารนโยบายไปยังผู้ปฏิบัติอย่างไร มีขั้นตอนบังคับบัญชาตามโครงสร้างลดหลั่นผ่านใครบ้าง ดูวิธีการสั่งการ หรือ แก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น
บางคนฝึกงานเสร็จ (อาจ)ไม่ได้โฟกัสผู้นำองค์กรชื่ออะไร เพราะคิดว่าไกลตัว ไม่เกี่ยวกับเราโดยตรง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ถ้าคิดอย่างนั้น จะทำให้เราไม่สนใจ เข้าไม่ถึงการเรียนรู้หลักบริหารใดๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจขององค์กร เท่ากับปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้อย่างน่าเสียดาย หรือไม่ ประการใด
เพราะความสำเร็จหรือล้มเหลว ความอยู่รอดหรือเติบโตขององค์กร อยู่ที่ผู้นำ
ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในองค์กร ไม่ว่าเป็นการฝึกงาน หรือการทำงานจริงหลังจากสำเร็จการศึกษา จึงมิอาจพลาดการเรียนรู้ผู้นำได้ ที่สำคัญ การเรียนรู้ รับรู้รู้จักผู้นำ จะเป็นแนวทางไปสู่การคิดงาน สร้างงานและเสนอแนะได้อย่างตอบโจทย์และตรงความต้องการของผู้นำ
ใครฝึกงานบัญชี จะเสนอแนะการใช้ตัวเลขทางบัญชีให้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารหรือผู้นำองค์กรได้อย่างไร ใครฝึกงานพีอาร์ จะเสนอแนะการใช้พีอาร์หนุนนำการบริหารหรือผู้นำองค์กรได้อย่างไร ฯลฯ
เป็นบางมุมมองการฝึกงานยุคใหม่