คอลัมนิสต์

ถอดรหัสคอบร้าโกลด์2014 'จีน'ร่วมฝึกคุมเชิงสหรัฐ

ถอดรหัสคอบร้าโกลด์2014 'จีน'ร่วมฝึกคุมเชิงสหรัฐ

20 ก.พ. 2557

ถอดรหัสคอบร้าโกลด์2014 'จีน'ร่วมฝึกคุมเชิงสหรัฐ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

                กองทัพไทย และกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการฝึก “คอบร้าโกลด์” ประจำปี 2557 หรือคอบร้าโกลด์ 2014  ซึ่งปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 33 ในระหว่างวันที่ 13 มกราคม-21 กุมภาพันธ์ 2557 โดยเป็นการฝึกแบบ HEAVY YEAR ที่เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

                การฝึกคอบร้าโกลด์ 2014 มีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลัก รวมทั้งหมด 7 ประเทศ คือ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และ มาเลเซีย ขณะที่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัดกําลังเข้าร่วมการฝึกเป็นครั้งแรกในโครงการช่วยเหลือประชน ทั้งโครงการก่อสร้าง และโครงการแพทย์

                นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่ส่งนายทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก (Combined Observer Liaison Team : COLT) รวม 11 ประเทศ คือ เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ยูเครน รัสเซีย ปากีสถาน และอังกฤษ

                รวมทั้งนายทหารฝ่ายเสนาธิการผสมนานาชาติ Multi National Augmentation Team : MPAT 10 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี บรูไน บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล มองโกเลีย และ ฟิลิปปินส์

                ใช้กำลังพลทั้งหมด 8,239 คน ประกอบด้วย ไทย 3,010 คน สหรัฐอเมริกา 4,556 คน สิงคโปร์ 65 คน ญี่ปุ่น 137 คน อินโดนีเซีย 42 คน เกาหลีใต้ 376 คน มาเลเซีย 36 คน และจีน ซึ่งแบ่งเป็นทหารช่าง และแพทย์ 17 คน เข้ามาทำโครงการช่วยเหลือประชาชน

                กองอํานวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2014 มี พล.ท.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ เจ้ากรมยุทธการทหาร ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อํานวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2014 ร่วมกับฝ่ายสหรัฐ ที่มีการจัดกองกําลังผสมนานาชาติ จัดตั้ง ณ ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ กองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก

                โดยมี พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่เป็น "ผบ.กองกําลังผสมนานาชาติ" และฝ่ายสหรัฐ พล.ต.JAMES C. BOOZER เป็น รอง ผบ.กองกําลังผสมนานาชาติ

                รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์การเข้ามาร่วมการฝึกครั้งแรกของจีนในโครงการที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนว่า เป็นสัญญาณชัดเจนว่า จีนต้องการเพิ่มบทบาททางด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้มากขึ้น หลังจากได้แสดงบทบาททางด้านการเมือง และทางเศรษฐกิจมานานแล้ว

                รศ.ดร.ปณิธาน ระบุว่า การเข้ามาครั้งนี้เป็นการเข้ามาอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกทางด้านความมั่นคง หลังจากไทยและจีนเคยมีข้อตกลงความร่วมมือทางการทหารเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นเพียงการเข้ามาเชิงสัญลักษณ์ เพราะยังเข้ามาน้อยมาก ส่วนการเผชิญหน้ากับสหรัฐมองว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะศักยภาพทางการทหารของจีนยังไม่มากพอ

                "ขณะนี้จีนเริ่มส่งเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธเข้ามาในทะเลจีนใต้ และมีปฏิบัติการกับญี่ปุ่น แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ศักยภาพทางการทหารของจีนจะไล่ทันสหรัฐ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปี โดยมีข้อแม้ว่า สหรัฐต้องไม่มีการพัฒนาด้านอาวุธเลย โดยทุกวันนี้สหรัฐใช้งบประมาณทางการทหารปีละ 7 แสนล้าน ส่วนจีนใช้เพียง 1 แสนล้านเท่านั้น"

                รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่า กองทัพจีนเพิ่งปรับเปลี่ยนจากกองทัพแบบดั้งเดิมมาเป็นกองทัพที่ทันสมัย และจีนยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการส่งกำลังออกไปรบนอกประเทศ แม้แต่การฝึกร่วม/ผสมกับกองกำลังนานาชาติจีนก็แทบไม่มีการฝึกร่วม/ผสมมาก่อน จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพัฒนากองทัพ แต่จีนมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน และจุดยืนทางการเมืองที่ต้องการคานอำนาจสหรัฐ

                ส่วนท่าทีของไทยที่เอนเอียงไปทางสหรัฐมากขึ้น เช่น การที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสหรัฐเยือนไทย หรือกรณีโครงการสำรวจสภาพอากาศที่สนามบินอู่ตะเภา เขามองว่า จีนอาจจะเข้าใจ แต่ก็ไม่พอใจไทยอยู่ลึกๆ ซึ่งถ้าเป็นโครงการที่มีมาก่อน เช่น คอบร้าโกลด์ หรืออู่ตะเภา เขาคงไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นโครงการที่มีขึ้นมาใหม่เขาต้องประท้วงแน่ๆ ซึ่งรัฐบาลไทยต้องระมัดระวังให้ดี

             ............................


(หมายเหตุ : ถอดรหัสคอบร้าโกลด์2014 'จีน'ร่วมฝึกคุมเชิงสหรัฐ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)