คอลัมนิสต์

'T-84 Oplot'รถถังยูเครนส่งถึงไทยลอตแรก5คัน

'T-84 Oplot'รถถังยูเครนส่งถึงไทยลอตแรก5คัน

13 ก.พ. 2557

'T-84 Oplot'รถถังพันธุ์แกร่ง! ยูเครนส่งถึงไทยลอตแรก5คัน : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

               รถถังรุ่น T-84 Oplot จากประเทศยูเครนลอตแรกจำนวน 5 คัน เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว โดยประเทศยูเครนได้จัดส่งทางเรือมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์

               รถถังทั้ง 5 คันถูกลำเลียงไปยังศูนย์การทหารม้า (ศม.) ค่ายอดิศร จ.สระบุรี เพื่อทำการศึกษา และปรนนิบัติบำรุง ก่อนนำไปประจำการที่กองพันทหารม้าที่ 2 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ม.พัน.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี

               โครงการจัดซื้อรถถัง T-84 Oplot จากประเทศยูเครน จำนวน 54 คัน หรือ "1 กองพันทหารม้า" มูลค่ากว่า 7,200 ล้านบาท ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำมาทดแทนรถถัง M-41 ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2505 และเตรียมปลดประจำการเร็วๆ นี้

               โครงการจัดซื้อดังกล่าว แบ่งเป็น รถถังหลัก จำนวน 49 คัน รถกู้ซ่อม จำนวน 2 คัน และรถซ่อมบำรุง จำนวน 4 คัน พร้อมเครื่องซิมูเลเตอร์ หรือเครื่องฝึก รวมมูลค่ากว่า 7,200 ล้านบาท

               ส่วนที่เหลือ ทางยูเครนเตรียมจัดส่งให้แก่กองทัพบกไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 จำนวน 20 คัน และลอตสุดท้าย เดือนธันวาคม 2557 อีก 19 คัน พร้อมรถกู้ซ่อมอีก 2 คัน โดยรถถังทั้งหมดมีกำหนดส่งมอบภายในปี 2558

               รถถัง T-84 Oplot ออกแบบโดยบริษัท Kharkiv Morozov Machine Building Design (KMDB) และสร้างโดยบริษัท Malyshev Plant แห่งประเทศยูเครน ปัจจุบันประเทศที่มีรถถังรุ่นนี้จำการมีอยู่ 4 ประเทศคือ ยูเครน จอร์เจีย บังกลาเทศ และอาเซอร์ไบจาน

               รถถังภายใต้รหัส T-84 ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1999 โดย T-84 Oplot จัดเป็นรถถังในยุคที่ 3 ที่รวบรวมคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในรถถังในยุคที่ 3 ไว้ทั้งหมด อาทิ ระบบอาวุธหลัก ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบ (Smoothbore Gun) แบบ KBA-3 ขนาด 125 มม. จำนวน 1 กระบอก

               นอกจากนี้ ยังมีการบรรจุกระสุนด้วยเครื่องบรรจุแบบอัตโนมัติ (Autoloader) กระสุนที่ใช้ยิงเป็นกระสุนชนิดแยกส่วน มีหัวรบหลายประเภท เช่น ระเบิดต่อสู้รถถัง (HEAT), ระเบิดมีสะเก็ด (HE-FRAG), ระเบิดแตกอากาศ (ABFS), เจาะเกราะทิ้งเปลือกทรงตัวด้วยหาง (APFSDS) โดยมีระยะยิงหวังผลที่ 2,800 เมตร และสามารถใช้ยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์แบบ 9M119M1 Refleck-M ซึ่งมีระยะยิงหวังผลที่ 5,000 เมตร ส่วนระบบอาวุธรอง ประกอบด้วย ปืนกลร่วมแกนแบบ KT-7.62 (PKT) ขนาด 7.62 มม.

               รวมถึงปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ KT-12.7 ขนาด 12.7 มม. 1 กระบอก ใช้ระบบควบคุมการยิงจากภายในป้อมปืน (Remote Control) ระบบอำนวยการยิง ประกอบด้วย ระบบกล้องตรวจการณ์แบบ PNK-6 มีระยะการมองเห็นในเวลากลางวัน 5,500 เมตร และระยะการมองเห็นเมื่อใช้รูปแบบการสร้างภาพด้วยความร้อนที่ 8,000 เมตร

               รถถังรุ่นนี้ใช้กล้องเล็งชนิดสร้างภาพจากความร้อนแบบ PTT-2 สามารถตรวจพบเป้าหมายที่ระยะ 8,000 เมตร แยกแยะเป้าหมายที่ 4,500 เมตร พิสูจน์ทราบเป้าหมายที่ 2,500 เมตร ข้อมูลจากกล้องเล็งของพลปืนสามารถส่งต่อให้ ผบ.รถ เป็นผู้ทำการยิง

               รถถังรุ่นนี้มีเกราะป้องกันแบบใหม่ ทั้งที่เป็นแบบเชิงรับ (Passive) สร้างเป็นตัวรถและป้อมปืน ซึ่งเป็นเกราะแบบผสมหลายชั้น และแบบเชิงรุก (Active) เป็นเกราะปฏิกิริยาแบบ BATW-ERA ติดตั้งเสริมด้านหน้า ด้านบนป้อมปืน และด้านหลังของตัวรถ

               รถถัง T-84 Oplot ยังพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบ 2 จังหวะแบบ 6TD-2 ระบายความร้อนด้วยของเหลว มีกำลัง 1,200 แรงม้าที่ 2,600 รอบต่อนาที สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้หลายชนิด ใช้ระบบควบคุมการเคลื่อนที่แบบผสมผสาน (Complex Movement Control System : CMCS) ทั้งการปรับจังหวะอัตโนมัติ (Automatic Gear) และปรับจังหวะด้วยมือ (Manual Transmission Control Mode)

               นอกจากนี้ ยังใช้กล้องเล็งแบบใหม่ ระบบตอบโต้การถูกยิงด้วยอาวุธนำวิถี ซึ่งสามารถแจ้งเตือนการถูกตรวจจับ หรือการเล็งเกาะเป้าหมายด้วยแสงเลเซอร์

               รวมถึง "ระบบก่อกวนคลื่นสัญญาณแสงเลเซอร์" (Laser Beam) ในระบบอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังฝ่ายตรงข้ามขณะทำการยิง ซึ่งทำให้รถถังรุ่นนี้มีขีดความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบได้ดียิ่งขึ้น

.......................................

(หมายเหตุ : 'T-84 Oplot'รถถังพันธุ์แกร่ง! ยูเครนส่งถึงไทยลอตแรก5คัน : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)