คอลัมนิสต์

สลัม:เรื่องของความไม่เป็นธรรม

สลัม:เรื่องของความไม่เป็นธรรม

07 ม.ค. 2557

สลัม: เรื่องของความไม่เป็นธรรม : กระดานความคิด โดยสุธน_หิญ

           การเกิดสลัมหรือแหล่งเสื่อมโทรมมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากความยากจน ทำให้คนจนเลือกที่จะบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่รกร้าง (แต่ที่จริงมีเจ้าของแล้ว ซึ่งมักจะเป็นของทางราชการ) ส่วนที่เป็นของเอกชนก็มีบ้างและมักเกิดคดีความตอนที่เจ้าของที่ดินต้องการหาประโยชน์ ซึ่งผู้ถูกไล่ออกจากที่ดินก็ต้องออกหาที่อยู่อาศัยใหม่ต่อไป บางส่วนกลายเป็นคนเร่ร่อนจรจัด

           ความยากจนและการหางานทำได้ยากหรือค่าแรงต่ำแต่ของกินของใช้ราคาแพงในแทบทุกประเทศเกิดจากรัฐปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของที่ดินโดยไม่เก็บภาษีหรือค่าเช่าที่ดิน หรือเก็บน้อยเกินไป

           คนรวยก็สามารถถือครองที่ดินไว้ได้มากๆ โดยหวังราคาที่จะสูงขึ้น การเก็งกำไรกักตุนที่ดินทำให้ที่ดินแพงและกลายเป็นของหายาก ไปไหนๆ ก็เจอแต่ที่ดินรกร้างแต่มีเจ้าของแล้ว ที่ดินที่ไม่ค่อยได้ทำประโยชน์ในเมืองไทยมีมากถึง 70% ของที่ดินที่ถือครองกันอยู่ แปลว่าได้ทำประโยชน์ไม่ถึง 1 ใน 3

           ดังนั้นการผลิตของชาติจึงย่อมมีน้อย การทำงานก็มีน้อยตามไป แรงงานพื้นฐานต้องว่างงาน แย่งกันหางานทำ ค่าแรงถูกกดต่ำ มิหนำซ้ำการเก็งกำไรซื้อขายที่ดิน (+บ้าน) ยังเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤติฟองสบู่อสังหาฯ เป็นระยะๆ เรื่อยมา แม้ขณะนี้ก็รับผลกระทบกันทั่วโลก เกิดความเสียหายสุดคณนา

           แถมเมื่อเก็บภาษีที่ดินน้อย รัฐก็ต้องเก็บภาษีการลงแรงลงทุนทำการผลิตการค้าและบริการมาก รวมทั้งภาษีเงินได้ เป็นการลดรายได้ เพิ่มรายจ่าย (เพราะของแพงจากภาษี) คนส่วนใหญ่ยิ่งยากจนมากขึ้น และสินค้าเราราคาแพงก็ขายแข่งสู้ต่างประเทศได้ยาก

           หนทางที่ควรเดินคือ ให้รัฐเพิ่มภาษีที่ดินและลดภาษีการผลิตการค้าการบริการครับ กิจกรรมเศรษฐกิจจะคึกคัก การว่างงานจะไม่เป็นปัญหาใหญ่ วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่จะหมดไป จำนวนคนจนที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือจะลดฮวบ แต่รัฐจะมีรายได้มาก สามารถจัดสวัสดิการได้กว้างขวาง ไม่ต้องพึ่งมูลนิธิองค์การกุศลทั้งหลาย