
'อลงกรณ์ พลบุตร'เร่งปฏิรูป(พัก)จนได้!
'อลงกรณ์ พลบุตร' เร่งปฏิรูป(พัก)จนได้! : ขยายปมร้อน โดยประภาศรี โอสถานนท์ / สมถวิล เทพสวัสดิ์
"แพ้ครับ" เป็นข้อความจากทวิตเตอร์ของ "อลงกรณ์ พลบุตร" อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้ชื่อว่า อลงกรณ์ พลบุตร ?@alongkornpb เป็นการทวิตข้อความระหว่างการประชุม "เลือกกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่"
หากดูจากรายชื่อผู้ที่ได้เลือกเป็น "กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่" ส่วนใหญ่หากจะบอกว่าเป็น "สายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ก็ดูจะไม่เกินความเป็นจริง
การเลือก "กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่" ครั้งนี้ ได้เพิ่มจำนวนจาก 19 คน เป็น 35 คน เนื่องจากเห็นว่าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง
สำหรับหัวหน้าพรรค "อภิสิทธิ์" ยังได้รับเลือกติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 ชนิดไร้คู่แข่งขัน ส่วน "เลขาธิการพรรค" เป็น "จุติ ไกรฤกษ์" มารับหน้าที่แทน "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้
ส่วน "รองหัวหน้าพรรค" ตามโควตาหัวหน้าพรรคเสนอ 5 ตำแหน่ง ได้แก่ "เกียรติ สิทธีอมร, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และอภิรักษ์ โกษะโยธิน" มีหน้าที่ตามดูแลงานด้านต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น "เกียรติ" ดูเรื่องเศรษฐกิจ-ต่างประเทศ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ดูแลเรื่องท้องถิ่น "อภิรักษ์" ดูแลเรื่องการสื่อสาร และยุทธศาสตร์ เป็นต้น
ดังนั้น "รองหัวหน้าโควตาหัวหน้าพรรคเสนอ" จึงเป็นเรื่องปกติที่จะนำคนที่ตัวเอง "ไว้ใจ" ให้มานั่งในตำแหน่งดังกล่าว
สำหรับตำแหน่ง "รองหัวหน้าพรรคประจำภาค" โดยการลงคะแนนคำนวณจาก กรรมการบริหารพรรค, ตัวแทนจากสภาท้องถิ่น, ประธานสาขาพรรค, สมาชิกพรรค, ส.ส. โดยผลการคำนวณคิดเป็นร้อยละ ใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งหรือสูงกว่าคู่แข่งจะได้รับเลือก
ปรากฏว่า "รองหัวหน้าภาคกรุงเทพ" เป็นการแข่งขันกันระหว่าง "องอาจ คล้ามไพบูลย์" กับ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ปรากฏว่าผลการรวบรวมคะแนน "องอาจ" ชนะได้รับเลือก 55.84% ขณะที่ "พีระพันธุ์" ได้ 36.20% ส่วน "รองหัวหน้าภาคกลาง" เป็นการแข่งขันระหว่าง "อลงกรณ์ พลบุตร" กับ "สาธิต ปิตุเตชะ" ปรากฏว่า "สาธิต" ชนะ ได้รับเลือก 63.13% ส่วน "อลงกณ์" ได้ 30.93%
สำหรับ "รองหัวหน้าภาคใต้" เป็นการแข่งขันระหว่าง "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" กับ "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" ปรากฏว่า "นิพิฏฐ์" ชนะได้ 56.73% ส่วน "ชินวรณ์" ได้ 37.55% ส่วน "รองหัวหน้าภาคเหนือและอีสาน" ไม่มีคู่แข่ง โดย "อัศวิน วิภูศิริ" เป็น "รองหัวหน้าภาคเหนือ" ส่วน "รองหัวหน้าภาคอีสาน" คือ "คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช"
นอกจากนี้ "อลงกรณ์" ได้ทวิตข้อความว่า "แพ้ครับ" ต่อมาได้มีข้อความที่สองตามมาว่า "ผมยอมรับมติของพรรคครับ อย่างน้อยก็ร่วมกันผลักดันการปฏิรูปพรรคจนมีวันนี้ ขอให้เดินหน้าปฏิรูปต่อไปมีแต่แนวทางนี้เท่านั้นจึงจะกลับมาชนะใจประชาชน"
การพลาดตำแหน่ง "รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง" ของ "อลงกรณ์" ที่มีคะแนนห่างจาก "สาธิต" ถึง 32.2% ถือว่าเป็นคะแนนที่ค่อนข้างสูง หลายคนมองว่า สาเหตุน่าจะมาจากพฤติกรรมตรงไปตรงมาของ "อลงกรณ์" ประกอบการ "ความคิด" ที่เสียงดังอยู่นอกพรรคมากกว่าจะมาดังในห้องประชุมพรรค เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ "อลงกรณ์" พลาดตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคในครั้งนี้
แนวคิด "ปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์" ของ "อลงกรณ์" ได้รับเสียงตอบรับจากกระแสสังคม ได้มีเสียงกระซิบจาก "ผู้ใหญ่" ในพรรค ให้นำมาหารือในที่ประชุมพรรคไม่ควรพูดนอกพรรค
ความที่ "พรรคประชาธิปัตย์" มีความเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยข้อบังคับของพรรค สมาชิกทุกคนต้องอยู่ในแถวในแนวที่พรรคกำหนด แม้เรื่องที่พูดจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคแต่ถ้าทำให้ "ผู้ใหญ่ในพรรคเสียหน้า" ก็ถือเป็นเรื่องต้องห้ามที่สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติ ทำนอง "ความในอย่าออก ความนอกอย่านำเข้า"
และการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ปี 2556 ครั้งนี้ ภาพการตอบโต้กันระหว่าง "อลงกรณ์" กับ "อภิสิทธิ์" ในการประชุมปรับโครงสร้างพรรค ได้ฉายให้เห็นถึง "ร่องรอย" ความแตกร้าวภายในได้ฉากหนึ่ง
ขณะที่อีกฝ่ายอยากเห็นการกระจายอำนาจ โดยดึง "ท้องถิ่น" มามีบทบาทให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยหวังเพิ่มกลไกขับเคลื่อนด้านล่างมากขึ้น ขณะที่อีกคนมองว่าจะเป็นการซ้ำซ้อน หลังจากมีการเพิ่มสัดส่วนเข้ามาอยู่แล้ว
หลังจาก "อลงกรณ์" พยายามผลักดันให้พรรคเกิดการปฏิรูป จากนี้ไปหลายคนเริ่มมีความเป็นห่วงสถานะภายในพรรคของ "อลงกรณ์" หลายคนมักบอกว่า คนมีฝีมือของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต หากพูดตรงจะอยู่ในพรรคลำบาก สุดท้ายก็ลาออกไปได้ดีที่อื่นแทน
..............
(หมายเหตุ : 'อลงกรณ์ พลบุตร' เร่งปฏิรูป(พัก)จนได้! : ขยายปมร้อน โดยประภาศรี โอสถานนท์ / สมถวิล เทพสวัสดิ์)