คอลัมนิสต์

หมดยุคยัดเยียด

หมดยุคยัดเยียด

22 พ.ย. 2556

หมดยุคยัดเยียด : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556

              คู่ขนานไปกับการเมืองอันร้อนแรง ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมานับเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม  คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยงบเงินลงทุน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งปรากฏว่า แต่ละเวที แต่ละจังหวัดก็คุกรุ่นมีกลิ่นอายของความขัดแย้งไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่าอเนจอนาถใจก็คือ บางเวทีภาครัฐได้กะเกณฑ์ชาวบ้านออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนโครงการเพื่อเป็นการตอบโต้ฝ่ายต่อต้านที่ดูเหมือนนับวันจะขยายกว้างใหญ่ออกไป ทั้งยังจะเป็นข้ออ้างที่จะนำไปผลักดันโครงการนอกเหนือจากจำนวน 40,000 เสียงจาก 36 จังหวัดที่ได้จัดเตรียมเอาไว้แล้ว


              เขื่อน - ซึ่งได้กลายเป็นของแสลงของคนไทยจำนวนไม่น้อยไปแล้ว ด้วยเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งที่ผ่านมาๆ หลายต่อหลายครั้ง ไม่ได้ช่วยป้องกันหรือคลี่คลายสถานการณ์ลงแต่อย่างใด ซ้ำร้ายคราวน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ยังซ้ำเติมให้อุทกภัยครั้งนั้นเลวร้ายลงอีก แต่โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านก็ยังบรรจุแผนงานสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเอาไว้ในโมดูลเอ 1 ด้วยเหตุผลที่ภาครัฐมองต่างมุมว่า เขื่อน ยังคงเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำอันทรงประสิทธิภาพมากที่สุด จึงยังมีความจำเป็นต่อไป ขณะที่ฝ่ายคัดค้านกลับเห็นว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยชุมชนผ่านระบบคูคลองหนองบึง ฝาย และอ่างเก็บน้ำเล็กๆ จะสามารถชะลอความรุนแรงในหน้าน้ำได้ ขณะเดียวกันก็จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้อีกด้วย การลงทุนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างที่ผ่านมาถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย

              ฟลัดเวย์ - เป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย แต่กำลังจะกลายเป็นของแสลงไปอีกเช่นกัน ด้วยเหตุที่โครงการมูลค่า 1.5 แสนล้านบาทดังกล่าวนี้ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างในพื้นที่ด้านตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยานับตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี จนถึงสมุทรสงคราม ทั้งในแง่ของการสูญเสียที่อยู่ที่ทำกิน พื้นที่เกษตรกรรมจากการเวนคืน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนจากการลำเลียงน้ำเหนือจากลุ่มน้ำหนึ่งข้ามไปลงอ่าวไทยยังอีกลุ่มน้ำหนึ่ง โดยเฉพาะเพื่อเป้าหมายปกป้องไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะที่ชุมชนต่างๆ ในหลายจังหวัดได้ออกมาแสดงพลังคัดค้านกันอย่างเหนียวแน่น เพราะนอกจากทำร้ายพวกเขาโดยตรงแล้ว ยังจะทำลายสภาพแวดล้อมโดยรวมอีกด้วย

              นอกจาก 2 แผนงานขนาดใหญ่ดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายโครงการที่สร้างความหวาดวิตกให้แก่คนในพื้นที่ เช่น พื้นที่ปิดล้อมหรือการสร้างเขื่อนกันตลิ่ง ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า การจัดทำโครงการใดโดยฝ่ายรัฐ ไม่สามารถบังคับ หักดิบ ยัดเยียด ดังแต่ก่อนได้อีกแล้ว โครงการจัดการน้ำก็เช่นกัน ที่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่โครงการเดียว ถ้าหากรัฐละเลยที่จะให้ชุมชนเข้ามาเป็นเจ้าของตัดสินอนาคตของพวกเขากันเอง นี่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องใคร่ครวญและยึดเป็นแม่แบบสำหรับแผนงานอื่นๆ ต่อไปด้วย