คอลัมนิสต์

ชวนคิดในกระแสต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

ชวนคิดในกระแสต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

12 พ.ย. 2556

ชวนคิดในกระแสต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง : กระดานความคิด โดยกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

            ตามที่ประชาชนหลากหลายกลุ่มได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....” หรือ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง” อย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศนั้น ยังมีกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมเล็กๆ ซึ่งมีความเชื่อทางการเมืองที่หลากหลาย และเคารพการแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างของทุกกลุ่มภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้ออกแถลงการณ์กระตุกความคิดของสังคม

            พวกเขามองว่า ปรากฏการณ์ทางประชาธิปไตยขณะนี้เป็นเรื่องที่ควรชื่นชมยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตื่นตัวของประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจและการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักไปข้างหน้า

            ประการแรก การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางการเมือง อันเป็นหัวใจสำคัญของสังคมที่ยึดถือหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย ประชาชนย่อมคาดหวังได้ว่าตนจะสามารถแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยได้รับความคุ้มครองโดยรัฐและกฎหมายจากภยันตรายต่างๆ และผู้ใดที่ประทุษร้ายต่อประชาชน ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ

            ประการที่ 2 ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองอย่างเร่งด่วน แต่ไม่รวมถึงกับผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนแกนนำผู้ชุมนุม และผู้มีความผิดที่เกี่ยวกับคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นและการประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง

            ประการที่ 3 ในระหว่างที่กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนยังไม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ได้รับสิทธิในการประกันตัวโดยทันที โดยควรครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้ภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา

            ประการที่ 4 การตื่นตัวของประชาชนในครั้งนี้ ควรนำไปสู่การสร้างกลไกการป้องกัน ตรวจสอบ และการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและการประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นอิสระจากการแทรกแซงของผู้มีอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง รวมทั้งการสร้างกระบวนการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองและการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้เสียงข้างมากลากไปในกรณีมาตรา 190 ตลอดจนกรณีการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนทั้งบวกและลบอย่างกว้างขวาง เพื่อมิให้เกิดปัญหาเผด็จการรัฐสภาและป้องกันมิให้เป็นข้ออ้างสำหรับการรัฐประหารและ/หรือการพึ่งพากลไกที่ถูกสร้างขึ้นจากรัฐประหารไปพร้อมๆ กัน

            และในท่ามกลางสถานการณ์การเผชิญหน้ากันขณะนี้ ที่การต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกำลังพัฒนาขยายไปเป็นข้อเรียกร้องอื่นนั้น มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน พวกเราทุกคนที่อยู่ในสังคมไทยจะได้เรียนรู้และมีสติปัญญามากขึ้นจากบทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะก้าวผ่านความขัดแย้ง และการแตกต่างทางความคิดกันได้โดยกระบวนการที่วางอยู่บนการเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ การอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง ไปสู่การรังสรรค์สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างแท้จริง