
เปิดค่ายทหารบำบัดผู้เสพชุบชีวิต-ต้นแบบเมืองโอ่ง
เปิดค่ายทหารบำบัดผู้เสพชุบชีวิต-ต้นแบบเมืองโอ่ง : สายตรวจระวังภัย โดยทีมข่าวอาชญากรรม
"ศูนย์บำบัดฟื้นฟูค่ายพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด 24 ชั่วโมง” ในกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์ที่ผู้ติดยาเสพติดสมัครใจเข้ารับบริการตลอด 24 ชั่วโมง โดย พล.ต.ต.นิพนธ์ ภู่พันธุ์ศรี ผบก.ภ.จว.ราชบุรี เปิดเผยว่า ผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นชายอายุตั้งแต่ 13-55 ปี การบำบัดจะบูรณาการหลักสูตรของวิทยาลัยลูกผู้ชายประยุกต์เข้ากับหลักสูตรโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองฝ่ายปกครอง ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ โดยทีมวิทยากรภายนอก ด้านจิตวิทยาจากโรงพยาบาลเมืองราชบุรี ครูทหารกองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์ ทีมวิทยากรกลุ่มวิชากฎหมายเบื้องต้นจากตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี เน้นแนวทางอุดมการณ์รักชาติ สถาบัน ทักษะชีวิตและปฏิเสธยาเสพติด เพื่อใช้ฝึกอบรมแบบต่อเนื่องทั้งหมด 15 วัน 14 คืน ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผลตอบรับ ผู้บำบัดและผู้ปกครองพึงพอใจเป็นอย่างมาก เราดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งช่วยสร้างคนดีคืนสู่สังคม หลายคนติดต่อเข้ามาที่จะนำบุตรหลานมาบำบัดยาเสพติด แต่ช่วงนี้ติดขัดเรื่องงบประมาณจึงไม่สามารถรับได้ ช่วงเดือนตุลาคมนี้จะพยายามจัดหางบประมาณ เพื่อให้โครงการดำเนินการต่อไป
นายสุชาติ ดือเร๊ะ ผบ.ร้อย.อส.จ.ราชบุรี กล่าวว่า สมาชิก อส. 15 คน ที่เข้ารับการอบรมจากสถาบันธัญญารักษ์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นครูพี่เลี้ยง ฝึกฝนความเข้มแข็งของร่างกาย ระเบียบวินัย ฝึกปฏิบัติทักษะงานฝีมือเสริมอาชีพ เช่น การใช้ปูนปั้นโต๊ะ เก้าอี้ กระถางต้นไม้ และส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงปลาดุกและกบในบ่อพลาสติก ทำเตาถ่านอิวาเตะ ผลผลิตที่ได้จะนำไปจำหน่าย ส่วนหนึ่งนำมาประกอบอาหารให้แก่ผู้รับการบำบัด
ขณะที่ นายกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า กิจกรรมต้นแบบของจังหวัดราชบุรี มีความแตกต่างจากที่อื่น คือ 1.มีการฝึกที่ไม่เข้มงวด 2.ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจตลอด 24 ชั่วโมง 3. ปลูกฝังใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษกิจพอเพียง และ 4.ผู้ปกครองสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันตามเวลาที่กำหนด
“ผู้ผ่านการบำบัดเมื่อจบหลักสูตรอบรมจะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตาม โดยจัดทำสมุดคู่มือติดตามประเมินผลเป็นระยะเวลา 1 ปี ยังไม่พบว่า มีผู้ผ่านการบำบัดเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก นอกจากนี้ยังมีผู้ผ่านการบำบัดสมัครใจเป็นผู้ช่วยครูฝึกด้วย”
ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดรายหนึ่ง เล่าว่า เริ่มเสพยามาตั้งแต่อายุ 11 ปี มีเพื่อนชักชวนให้ลอง ปัจจุบันอายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพร้อมเพื่อนอีก 2 คนขณะเสพยาจึงนำตัวมาบำบัดที่ศูนย์ดังกล่าว ด้วยการทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น วิ่ง พัฒนาสภาพจิตใจ เสริมสร้างการเรียนรู้ด้านต่างๆ หลังบำบัดเสร็จก็กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมตามปกติ ทุกวันนี้ช่วยพ่อทำงานขายข้าวในตัวเมืองราชบุรี
การดำเนินงานทั้งหมด เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคมปี 2555 มีผู้รับการบำบัด 200 คน และปี 2556 มีผู้เข้ารับการบำบัด 619 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ จ.ราชบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร จำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานที่คับแคบแค่ประมาณ 1 ไร่เศษ แบ่งเป็นอาคารกองร้อย โรงครัว ห้องน้ำ รวมพื้นที่ 3 งาน พื้นที่เศรษฐกิจพอเพียง 1 งาน พื้นที่กิจกรรม 1 งาน จึงไม่สามารถให้ผู้เข้ารับการบำบัดทำกิจกรรมได้เพียงพอ
จังหวัดจึงสำรวจพื้นที่โรงเรียนร้าง พบว่ามีโรงเรียนวัดเกาะลอยอุดมเอกธาราม ใน ต.คุ้งกระถิน มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เตรียมปรับปรุงเป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติดแห่งใหม่ เรื่องที่ดินซึ่งเป็นของวัดเกาะลอยอุดมเอกธารามได้ประสานกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอกันเขตจัดประโยชน์ตามระเบียบแล้ว ส่วนอาคารโรงเรียนซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1 ได้ส่งคืนกรมธนารักษ์แล้ว ทางจังหวัดได้แจ้งกรมการปกครองเพื่อขอใช้อาคารดังกล่าว และประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 ขอสนับสนุนนงบประมาณปรับปรุงอาคารโรงเรียนหลังนี้เป็นเงิน 3,620,000 บาท หากเสร็จสิ้นจะสามารถรองรับผู้เข้ารับการบำบัดทั้งเพศชายและหญิงประมาณ 100 คนต่อหลักสูตร
..........
(หมายเหตุ : เปิดค่ายทหารบำบัดผู้เสพชุบชีวิต-ต้นแบบเมืองโอ่ง : สายตรวจระวังภัย โดยทีมข่าวอาชญากรรม)