คอลัมนิสต์

สงครามชีวิต'ก็อดอาร์มี่'

สงครามชีวิต'ก็อดอาร์มี่'

12 ก.ย. 2556

สงครามชีวิต'ก็อดอาร์มี่' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

               นักท่องเที่ยวไปสวนผึ้ง และขึ้นไปรับอรุณบนยอดเขากระโจม ย่อมได้รับฟังเรื่องราวของนักรบพระเจ้า หรือ "ก็อดอาร์มี่" เพราะมันเป็นจุดขายที่เล่ากันปากต่อปาก จากยอดเขาสูงบริเวณพรมแดนไทย-พม่า ด้านเทือกเขาตะนาวศรี

               คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมนั่งดูรายการสปริงรีพอร์ต ทางช่องสปริงนิวส์ ซึ่งนำเสนอตอน "อดีตผู้นำกองกำลังก็อดอาร์มี่ที่อายุน้อยที่สุดในโลก ลูเธอร์-จอห์นนี่ แฝดลิ้นดำ"

               ต้องขอบคุณทีมงานสปริงนิวส์ ที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับ "สงครามเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน" ที่ชายแดนตะนาวศรี เมื่อ 14 ปีก่อน อันสืบเนื่องมาจากกรณีกลุ่มนักศึกษาพม่า ก่อเหตุบุกยึดสถานทูตพม่า ในประเทศไทย กับกรณีกองกำลังก็อดอาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี

               ช่วงที่เกิดเหตุสมัยนั้น กองกำลังก็อดอาร์มี่ตกเป็นจำเลยร่วมกับนักศึกษาพม่ากลุ่มหนึ่ง แม้จะมีผู้พยายามไขปมลับและตีแผ่เบื้องหลัง แต่ก็มิอาจต้านกระแสรักชาติยิ่งชีพยามนั้นได้

               ตรงกันข้าม ผู้คนสนใจตำนาน "แฝดลิ้นดำ" นักรบกะเหรี่ยงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ "ลูเธอร์-จอห์นนี่" ซึ่งหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับ นำเสนอราวกับนิยายลึกลับเรื่องหนึ่ง โดยไม่มีใครใส่ใจต่อชะตากรรมของชนชาติกะเหรี่ยง หลังจากฐานที่มั่นสุดท้ายของพวกเขาแตกพ่าย

               "ลูเธอร์ ฮะตู" แฝดผู้พี่ ในวัย 25 ปี ปรากฏตัวทางหน้าจอสปริงนิวส์ ได้ทำให้ความลับบางอย่างถูกเปิดเผย นั่นคือเรื่องที่พวกเขาต้องนำกำลังออกไปยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พร้อมกับยื่นเงื่อนไข 5 ข้อ และหนึ่งในนั้น พวกเขาต้องการให้ทหารไทยหยุดยิงปืน ค.120 ใส่หมู่บ้านกำมะปอว์

               "กำมะปอว์" เป็นชุมชนกะเหรี่ยง ตรงข้ามช่องเขากระโจม ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่สูงชัน มีผาชันเป็นแนวตั้ง จึงเป็นยุทธภูมิการรบที่ได้เปรียบทหารพม่า แม้พวกเขาจะมีกำลังรบน้อยกว่า แต่การตั้งอยู่บนเนินสูงกว่าเนินอื่นๆ ย่อมต้านยันกับกองกำลังที่เหนือกว่า

               แต่เมื่อทหารไทยยิงปืนใหญ่สนับสนุนการรุกของทหารพม่า นักรบกะเหรี่ยงก็จนตรอก หลังเหตุการณ์ยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ทหารไทยได้ระดมยิง ค.120 อย่างหนัก 3 วัน 3 คืน จนฐานที่มั่นเสียหายยับ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย ที่บ้านห้วยคอกหมู อ.สวนผึ้ง

               คู่แฝด "ลูเธอร์-จอห์นนี่" เข้ามอบตัว พร้อมกองกำลังก็อดอาร์มี่กว่า 50 พวกเขาถูกจัดให้ไปอยู่ในค่ายผู้อพยพบ้านถ้ำหิน ก่อนจะถูกโยกไปอยู่พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านต้นยาง ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อยู่ในศูนย์พักพิงฯ

               กะเหรี่ยงจากหมู่บ้านกำมะปอว์ บนเทือกเขาตะนาวศรี ได้ถูกจัดส่งลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 เฉพาะครอบครัวแฝดนักรบก็อดอาร์มี่ ก็แยกย้ายไปคนละประเทศ ตัวลูเธอร์ไปสวีเดน, น้องสาวไปสหรัฐอเมริกา, มารดาไปนิวซีแลนด์ แต่แฝดน้อง "จอห์นนี่" ขอกลับไปอยู่ฝั่งพม่า

               ส่วนพ่อของแฝดลูเธอร์ ยังใช้ชีวิตอยู่บ้านตะโกล่าง อ.สวนผึ้ง ในวันที่ลูเธอร์กลับมาจากสวีเดน ในฐานะนักท่องเที่ยว ก็แวะมาเยี่ยมพ่อ และไปหา "จอห์นนี่" น้องชายที่ทำงานอยู่กับฝ่ายความมั่นคงของพม่าตรงชายแดนด้าน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

               สงครามหลั่งเลือดจบแล้ว ท่อก๊าซจากพม่าข้ามเทือกเขาตะนาวศรีถึงราชบุรีเรียบร้อย วันนี้คงเหลือไว้แต่ตำนานก็อดอาร์มี่ ที่นักท่องเที่ยวจะได้ฟังจากคำบอกเล่าของ ตชด. บนยอดเขากระโจม

               ลูเธอร์เล่าผ่านหน้าจอทีวีว่า ก็อดอาร์มี่ เกิดจากชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งถูกทหารพม่าเข้ามาโจมตีอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ต้องจัดตั้งกองกำลังเพื่อปกป้องหมู่บ้านตนเองขึ้น โดยอาศัยคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เนื่องจากพวกเขานับถือคริสต์ จึงเรียกขานว่าก็อดอาร์มี่ (กองทัพพระเจ้า)

               คู่แฝด "ลูเธอร์-จอห์นนี่" ถูกเลือกขึ้นมาจากคนในหมู่บ้านให้เป็นผู้นำ โดยมี "เด็กลิ้นดำ" อีกคนหนึ่งชื่อ "จอปาซูปรี" เป็นตัวแทนของพระเจ้า แต่หลังเดินทางมาอยู่ยังค่ายบ้านต้นยาง เด็กลิ้นดำได้เสียชีวิต เนื่องจากป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ

               ด้วยการสื่อสารที่ผิดพลาดของนักข่าวท้องถิ่นกับส่วนกลาง จึงส่งผลให้คู่แฝด "ลูเธอร์-จอห์นนี่" กลายเป็นเด็กลิ้นดำ กระทั่งวันที่ลูเธอร์กลับมาจากสวีเดน ความจริงจึงเปิดเผย

.......

(หมายเหตุ : สงครามชีวิต'ก็อดอาร์มี่' ซ มนุษย์สองหน้า  โดยแคน สาริกา)